ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
31 มีนาคม 2554

มหาดไทยตีกลับร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ของกรมที่ดินที่ไฟเขียวออกโฉนดที่เกาะได้ แม้ไม่มีหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์ ส.ค.1 ใบจอง หวั่นขัดกฎหมายเดิมที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้านกรมที่ดินร่อนหนังสือถึงจังหวัดทั่วประเทศ รวบรวมที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิทุกเกาะแก่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติคาดไม่ ถึงล้านแปลง

แหล่งข่าวจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตามที่กรมที่ดินได้ยกร่างแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 43 มาตรา 17 (4) เรื่องห้ามออกเอกสารสิทธิบนที่เกาะ พ.ศ. 2537 เพื่อผ่อนปรนให้ประชาชนที่เข้าทำประโยชน์บนที่เกาะแก่งทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถนำที่ดินมายื่นขอออกโฉนดที่ดินได้ แม้ไม่มีหลักฐานการครอบครอง อย่าง ส.ค.1 หรือ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ใบจอง ฯลฯ มาแสดง เหมือนกับที่ดินบนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ใช่เกาะ แต่มีเงื่อนไขเพียงที่ดินที่ครอบครองต้องทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ ดินพ.ศ. 2497 ประกาศใช้ ล่าสุดร่างกฎกระทรวงดังกล่าวถูกคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงส่งกลับไป ศึกษาเพิ่มเติม หวั่นขัดแย้งกับกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ พื้นที่ที่เป็นเกาะ ตามนโยบายเดิม จะเปิดให้ออกโฉนดเฉพาะเกาะใหญ่ ที่เป็นที่ตั้งของ อำเภอ จังหวัด ที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล แต่ต่อมา มีแนวคิดว่า น่าจะปลดล็อกให้สามารถออกโฉนดบนเกาะทุกแห่งได้ แม้ว่าจะไม่มีที่ตั้งของหน่วยงานราชการที่สำคัญก็ตาม เช่น เกาะแก่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ยกเว้นพื้นที่เกาะที่เป็นเขตอุทยานพื้นที่อนุรักษ์ของทางราชการ

"ที่ผ่านมากรมที่ดินได้ยกร่างและเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวง แต่ปรากฎว่าได้ถูกตีกลับเนื่องจาก มีความเห็นว่า เดิมที่กฎกระทรวงฉบับที่ 43 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2537 รัฐบาลในช่วงนั้นต้องการให้กรมที่ดินออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมบนที่เกาะ ซึ่งไม่ต้องการให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ลงทุนกันเพิ่มขึ้น ยกเว้นแต่ เจ้าของที่ดินมีหลักฐานที่พร้อมขอออกโฉนดได้เท่านั้นเช่น ส.ค.1 ใบจอง น.ส.3 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) แต่ปัจจุบัน กรมที่ดินกลับแก้ไขคำสั่งนั้นเพื่อเปิดช่องให้ ที่ดินที่ไม่มีหลักฐานการครอบครองสามารถยื่นขอออกโฉนดได้ เกรงว่าจะมีผลกระทบตามมาและให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ขัดแย้งกันเอง"

อย่างไรก็ดีกรมที่ดินได้ออกหนังสือเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่ว ประเทศทั้ง 77 จังหวัด (รวมจังหวัดบึงกาฬ) โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเกาะแก่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ให้รวบรวมจำนวนแปลงที่ดินที่ประชาชนทำประโยชน์แต่ไม่มีหลักฐานการครอบครอง ว่าแต่ละพื้นที่มีตกค้างจำนวนเท่าใด และส่งมาที่ กรมที่ดินเพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และ หาเหตุผลของเรื่องดังกล่าวส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาประกอบการแก้ไขกฎ กระทรวงฉบับที่ 43 ต่อไป รวมถึงข้อร้องเรียนจากประชาชนเจ้าของที่ดินที่ต้องการได้เอกสารสิทธิบนที่ เกาะมายืนยัน ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะเกาะสมุย เกาะภูเก็ต เกาะช้าง เกาะพะงัน เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ ฯลฯ โดยประเมินคร่าวๆ ที่ดินที่ไม่มีหลักฐานดังกล่าวน่าจะไม่ถึง 1,000,000 แปลง

ต่อข้อถามที่ว่า จะเข้าทางนายทุนเข้ามากว้านซื้อหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นธรรมดา เพราะเมื่อนายทุนทราบก็จะเข้าไปติดต่อขอซื้อต่อในราคาถูกจากชาวบ้าน แต่เชื่อว่าชาวบ้านที่เขาครอบครองมานานจะเกิดความหวงแหนและไม่ต้องการขาย เพื่อย้ายถิ่นที่อยู่ เพราะมูลค่าที่ดินก็เพิ่มขึ้นและได้เอกสารสิทธิอย่างถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันการออกโฉนด ไม่ใช่จะออกให้ง่ายๆ เพราะ ต้องตรวจอย่างละเอียด ว่า ที่ดินได้มาเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 ตั้งอยู่ในเขตภูเขา พื้นที่อุทยานหรือป่าสงวนหรือไม่ ที่ดินแต่ละแปลง จะใช้เดินสำรวจออกโฉนดหรือ ออกเฉพาะเป็นรายแปลง ซึ่งต้องใช้เวลา

ด้านนายจำลอง โพธิเพชร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย กล่าวว่า ได้รับทราบหนังสือเวียนเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ตรวจสอบว่า ที่ดินบนเกาะที่ ไม่มีหลักฐานการครอบครองที่ดิน หรือไม่มีส.ค.1 ใบจอง มีทั้งหมดกี่แปลงกี่ไร่ อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น ทั้งเกาะไม่น่าจะเกิน 10,000 ไร่ ซึ่ง ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย กระจายทั่วไปทุกตำบล โดยประชาชนจะใช้ทำการเกษตรเช่นสวนมะพร้าว สวนผลไม้ ส่วนการนำที่ดินไปพัฒนาทำรีสอร์ตบ้านพักตากอากาศ นั้นจะขึ้นอยู่กับผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารว่าสามารถเปิดให้ทำได้หรือ ไม่

ทั้งนี้ กรณีที่กรมที่ดินแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 43 พ.ศ. 2537 จะส่งผลดีต่อ ประชาชนที่ครอบครองที่ดิน ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน ปี 2497 แต่ยื่นส.ค.1ไม่ทัน หรือตกสำรวจ ให้มีโอกาสได้รับเอกสารสิทธิอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อไป

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 25 มี.ค.54

0 ความคิดเห็น: