ต้องยอมรับว่า การบริหารงานท่ามกลางงบประมาณที่จำกัด แต่มีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นทวีคูณสำหรับกรมที่ดินในยุคนี้ ทั้งงานตั้งศูนย์ข้อมูลที่ดินออนไลน์งานเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน งานให้บริการประชาชน และภาคเอกชน ฯลฯ นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน จะมีทางออกและมียุทธศาสตร์อย่างไร ให้สามารถรองรับการให้บริการอย่างรวดเร็ว และสนองตอบต่อนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล "ฐานเศรษฐกิจ "สัมภาษณ์พิเศษ ถึงแนวทางปฏิบัติงานดังนี้
ภาพรวมนโยบายปี 2554
ในปีงบประมาณ 2554 นโยบายที่ได้รับจากรัฐบาล ยังเป็นโครงการต่อเนื่องเน้นแก้ปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน การจัดที่ดินทำกินให้กับคนจน การจัดที่ดินตามชายแดน การส่งเสริมภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สิ่งที่กรมที่ดิน จะเร่งพัฒนาคือ การจัดทำศูนย์ข้อมูลที่ดินวงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท ให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใน 3ปีนับจากนี้ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันมา 1-2 ปีแล้ว แต่ยังไม่จบ ซึ่งทางออกจะเริ่มต้นใช้งบของรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย คือ กู้ในประเทศให้ ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ลงทุนแทนกรมที่ดิน ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง และ กระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบในหลักการ ขณะที่งบประมาณที่ได้รับปี2554 (ตุลาคม 2553-กันยายน 2554) เพียง 200 ล้านบาท หากรองบประมาณเพียงอย่างเดียวโครงการนี้คงเกิดยาก เพราะต้องซื้อเครื่องมือ จ้างและอบรมบุคลากร
ถือว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะสนับสนุน ถ้าเงินมากองรวมปีละ 1,000-1,500 ล้านบาทก็สามารถทำได้ แต่ได้แค่ 200 ล้านบาทต่อปี ก็ทำได้แค่ฝึกคน เท่านั้น หากรัฐบาลสามารถสั่งให้ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการ ที่ดิน 32 ล้านแปลงทั่วประเทศ ก็จะอยู่รวมอยู่ในศูนย์ข้อมูลออนไลน์ อาทิ โฉนดห้องชุด ระบุเจ้าของแต่ละแปลงราคาประเมิน เท่าไหร่ อยู่โซนอะไร เสียภาษีบำรุงท้องที่หรือมีข้อผูกพันอะไร
เรื่องนี้ยังไม่ยุติ แต่ล่าสุดประเทศแคนาดาได้ให้ความสนใจลงทุนให้ โดยผลตอบแทนที่ได้จาก ศูนย์ข้อมูล รัฐบาลจะเรียกเก็บค่าขายข้อมูลและจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ที่ปกติแต่ละปีจะ จัดเก็บได้เพียง 10,000 ล้านบาท ต่อไปจะได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี
ส.ค.1 หมดเขต เป็นโฉนด
ที่ผ่านมา มีประชาชนเจ้าของที่ดิน นำหลักฐานการครอบครองที่ดินหรือ ส.ค.1 มายื่นขอออกเป็นโฉนด ตามที่กฎหมายยกเลิกส.ค.1 กว่า 500,000 แปลง ในจำนวนนี้ ยื่นซ้ำหรือ เคยออกเป็นโฉนดไปแล้วแต่ยังไม่ขีดฆ่าหรือทำลายต้นขั้ว กว่า 100,000 แปลง ที่มากที่สุด คือ อีสานกับภาคใต้ตอนล่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานลำบากมากรังวัดยาก แหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ มีนายทุนมายื่นซ้ำ แต่ไม่ปรากฏตัว ยอมรับว่ามีการทำเป็นขบวนการ แต่บางคนก็ไม่รู้จริงๆ
ขณะนี้ เราทำได้ 30-40% ซึ่ง 500,000 แปลง เป็นปริมาณงานที่เพิ่มเข้ามาก้อนใหญ่ ขณะที่งานเก่า ที่เป็นโครงการเดินสำรวจออกโฉนดในแต่ละปี เราทิ้งไม่ได้
ส.ป.ก.เป็นโฉนด
กรณี เอกสารส.ป.ก.ออกเป็นโฉนด สามารถออกได้โดยกฎหมายส.ป.ก. แต่จะออกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล โดยมอบให้กรมที่ดินรับดำเนินการ รูปแบบเหมือนกับนำ ส.ค.1 มาออกเป็นโฉนด รัฐบาลจะดำเนินการหรือไม่ ขณะนี้ ขั้นตอนนโยบายยังไม่จบ ที่ผ่านมาขึ้นทะเบียนมาแล้วเป็น 1,000,000 แปลง ถ้านโยบายรัฐบาลเอา มีเงิน มีคนให้ กรมที่ดินก็ทำได้ โดยที่ผ่านมามีการเจรจากันว่า จะให้กรมที่ดิน ออกโฉนดให้กับที่ดินส.ป.ก. ปีละ 300,000 แปลง ขณะที่ ส.ค.1ออกเป็นโฉนด 500,000 แปลง ก็มากอยู่แล้ว แต่ถ้า ส.ป.ก.ออกเป็นโฉนดอีก 300,000 แปลง แต่ไม่เติมเงิน เติมคน ก็ทำไม่ได้
ทุกวันนี้ เราตึงไปหมด ตัวเลขคนรังวัดไม่เกิน 100 แปลงต่อคนต่อปี 300,000 แปลง ก็ต้องขอคนเพิ่ม 300 คน โดยโฉนดของส.ป.ก. จะเป็นโฉนดหลังแดงห้ามโอน 10 ปี ซึ่งเงื่อนไขอยู่ที่ส.ป.ก. อาจจะห้ามโอนตลอดชีพก็ได้ แต่ ส.ป.ก.มีทั้งหมด 3,000,000 แปลง กรมที่ดินสามารถทยอยดำเนินการได้ ภายใน 10 ปี หากรัฐบาลมีนโยบายดำเนินการ
ส่วนปัญหานำส.ป.ก.ออกเป็นโฉนด จะมีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นผลดี ทั้งนายทุน นักการเมือง ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้จะมีการพิสูจน์สิทธิคนที่จะครอบครอง ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่คนจนจริงๆที่ได้มาก็ขายออกไปให้นายทุนแล้ว ไปแผ้วถางป่าใหม่ ทำให้เกิดความเสียหาย มองว่า
ตราบใดยังมีเรื่องของทุนนิยมเข้ามา ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาได้
พบนอมินีเพียบ
ที่ผ่านมา พบหลักฐานและเพิกถอนแล้ว เกือบ 15 ราย ซึ่งเป็นคำสั่งศาล ส่วนใหญ่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว และทะเลาะกันเอง นอมินี คู่สมรสมากที่สุด อย่างไรก็ดีมองว่า คอนโดมิเนียมยังเปิดให้ ซื้อได้ 49% แต่บ้านขายไม่ได้
ลึกๆนโยบายนี้เหมือนไก่กับไข่ หากมองในแง่เศรษฐกิจ ก็น่าจะเปิดกว้าง เพราะหากทำผิดต่างชาติก็ไม่สามารถเอาที่ดินออกไปได้
นโยบายขยายเช่า
นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) มีนโยบายขยายเช่า กรณี ที่อยู่อาศัยให้เช่าได้มากกว่า 30 ปี และ เชิงพาณิชย์ เช่าได้มากกว่า 50 ปี แต่ขณะนี้ มีกลุ่มรักชาติขวาง แต่ใจอยากจะเปิดให้ เพราะที่ผ่านมาเรายืมจมูกคนอื่นหายใจ คอนโดมิเนียมในเมืองทุกหลังต่างชาติซื้อเต็ม 49 % ที่เหลือ ใช้วิธีเช่าและเปลี่ยนเป็นซื้อ แต่ที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องโครงการจัดสรรขายที่เอกชนเสนอมา โดยอ้างว่า เปิดขายแล้วขายไม่หมด ก็จะขอปรับเป็นเช่า ซึ่งในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะขัดกฎหมายและที่ผ่านมากฤษฎีกาตีความว่าทำไม่ได้
แก้ไขกฎหมายจัดสรร
ที่จะแก้กฎหมายจัดสรร พ.ศ.2543 คือ ในส่วนของนิติบุคคล ที่ผ่านมา หากโครงการมี 1,000 หน่วย จะต้องรวมตัวกันถึง 500 หน่วยหรือครึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถรวมตัวได้ แต่ต่อไป จะลดสัดส่วนให้น้อยลง ซึ่งตัวเลขยังไม่ลงตัว ส่วนโครงการจัดสรรจิ๋ว ได้รับการตอบรับดีมาก บังคับใช้มา 2ปี ขณะนี้ ยื่นขออนุญาตจัดสรร ไม่น้อยกว่า 200 แปลง
จัดระเบียบเขาใหญ่
เขาใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาพอสมควร เพราะพื้นที่ป่าสงวนกับที่ชาวบ้านแยกกันไม่ออก เขาใหญ่ ปัญหามีมาก ออกเอกสารสิทธิไม่ชอบมีมาก ออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าโดยไม่รับอนุญาตขยายเขตจากเอกสารเดิม ออกโดยไม่ตรงกับเอกสารเดิมรวมถึงพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ หากมีร้องเรียนมาเราก็ ตรวจสอบ ซึ่งยอมรับว่า หยิบขึ้นมาวันละใบเดือนละ 25 ใบ เขาใหญ่ที่ออกเอกสารสิทธิ ทั้งที่รู้ว่าผิดกว่า 60% จะมีผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ออกเอกสารสิทธิ โดยมิชอบ เช่น ส.ค.1 10ไร่ ออกเป็น 20ไร่ ส.ค.1 20 ไร่ออก 40 ไร่
เอกสารสิทธิบนที่เกาะ
ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ห้ามออกเอกสารสิทธิบนที่เกาะ หากไม่มีหลักฐาน ส.ค.1 ภบท.5 ใบเหยียบย่ำ มาแสดง ต่อไปหากที่ดินแม้ไม่มีเอกสารใดๆ มีแต่แปลงที่ดินก็สามารถออกเอกสารสิทธิได้ หากที่ดินอยู่บนเกาะที่เป็นที่ตั้งของอำเภอ จังหวัด อาทิ เกาะสมุย เกาะช้าง เกาะภูเก็ต เกาะพะงัน เกาะยาว เกาะลันตา ฯลฯ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 3 - 5 กพ. 54
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
6 กุมภาพันธ์ 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น