ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
31 มกราคม 2554

กรมที่ดิน เร่งกำจัดส.ค.1 บิน-ซ้ำซ้อนทั่วประเทศ ผงะ กว่าแสนแปลง มีกลุ่มนายทุนหัวหมอนำมาหมุนเวียนยื่นขอออกโฉนดใหม่อีกรอบ

หัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวมากสุด ร่อนตะแกรง 500,000 แปลงลดฮวบเหลือ 400,000 แปลง เร่งเดินหน้ารังวัดออกโฉนด หลังเปิดโอกาสให้ยื่นใช้สิทธิ์ ก่อนปิดประตูตาย 7 กุมภาพันธ์ 2554

สืบเนื่องจากกรมที่ดิน มีนโยบายยกเลิกส.ค.1 หรือหลักฐานการแจ้งครอบครองที่ดินด้วยการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ 11 บังคับ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป โดยก่อนกฎหมายบังคับใช้ได้ผ่อนปรนให้เจ้าของที่ดินที่มีหลักฐาน ส.ค.1 และยังไม่เคยออกโฉนดมาก่อน ให้รีบยื่นขอออกโฉนดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขาทั่วประเทศก่อนกฎหมายมีผล บังคับใช้ หากรายใด ไม่สามารถยื่นแจ้งขอออกโฉนดได้ทัน

หากยืนยันได้ว่าหลักฐานส.ค.1 ที่ได้มาถูกต้อง ให้ขอศาลสั่งเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้เพื่อขจัดปัญหาการนำส.ค. 1 ที่เคยออกเอกสารสิทธิไปแล้ว สมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ นำกลับมาหมุนเวียนออกโฉนดที่ดินซ้ำ สวมสิทธิ์บนที่ดินแปลงอื่นหรือที่เรียกกันติดปากว่า ส.ค.1บิน -ส.ค.1 บวม โดยเฉพาะทำเลหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ กระทั่งเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็น จำนวนมากตามมานั้น

ล่าสุด นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากจำนวนส.ค.1 ที่เจ้าของที่ดินยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 500,000 แปลง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนส.ค.1 ที่ยังตกค้างเพื่อออกเอกสารสิทธิประเภทโฉนดเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่า มีส.ค.1 ที่อยู่ในข่ายเคยผ่านการออกโฉนดไปแล้วโดยที่เจ้าหน้าที่ ไม่ได้ขีดฆ่าหรือทำลายต้นขั้วส.ค.1 ฉบับดังกล่าว จำนวนกว่า 100,000 แปลง ดังนั้นกรมที่ดินจึงสั่งทำลายทันที ส่วนใหญ่ทำเลจะอยู่บริเวณหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งเข้าใจว่า มีการทำเป็นขบวนการ โดยมีนายทุนอยู่เบื้องหลังที่มีการขอยื่นขอออกโฉนดอีกรอบ เพื่อหวังตบตาเจ้าหน้าที่ที่จะออกเอกสารสิทธิได้ อีกประเด็นที่มีการนำส.ค.1ยื่นช้ำ เกิดจาก ทายาทรุ่นต่อมาไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า พ่อแม่ญาติพี่น้องเคยนำส.ค.1ยื่นรังวัดขอออกโฉนดแล้ว เมื่อทางราชการประชาสัมพันธ์ เช่นนั้น จึงนำหลักฐานดังกล่าวไปยื่นขอใช้สิทธิ์อีกครั้ง บางแปลง ยื่นซ้ำ 10 รายก็มี

ขณะเดียวกันในส่วนที่เหลือ จำนวน 400,000 แปลง จะต้องลงรังวัดและออกโฉนด แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำกัด งบประมาณมีน้อย ประกอบกับมีงานเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและงานอื่นๆ ปกติอยู่แล้ว ทำให้โครงการยกเลิกส.ค.1 จึงล่าช้าออกไป ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 30-40% โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีปริมาณการยื่นส.ค.1ไม่เกิน 3,000 แปลง กรมที่ดินสามารถเร่งรัดรังวัดให้แล้วเสร็จเตรียมออกโฉนดภายใน 1 ปี หากมากกว่านั้น โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคอีสาน ตอนล่างตอนบน ที่มีจำนวนแปลงยื่นขอออกโฉนดกว่า 30,000 แปลง ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน รวมถึงพื้นที่ ในแถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

ทั้งนี้เนื่องจาก จากพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินฉบับที่ 11 ประกาศใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป หากผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน และมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จะนำหลักฐานดังกล่าวมายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหลังจากกฎหมายบังคับใช้ จะต้องนำคำพิพากษา หรือ คำสั่งศาลถึงที่สุดว่าเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบ ด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับใช้หรือก่อนปี 2497 มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

"มีการยื่นขอช้ำ มีส.ค.1บินมาก เพราะคำขอใหม่แค่ 15 บาท เผื่อฟลุกออกได้ ที่มากที่สุด คือ อีสานกับภาคใต้ตอนล่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานลำบากมากรังวัดยาก แหล่งท่องเที่ยว มีนายทุนมายื่นซ้ำยอมรับว่ามี แต่ไม่ปรากฏตัว คนที่เอาส.ค.1มาสวม ก็ทำเป็นขบวนการ บางคนไม่รู้จริงๆ พ่อแม่เคยออกแล้ว ก็ยื่นอีก 500,000 แปลงออกไม่ได้ 100,000 แปลงหรือ 5 แปลง เสีย1แปลง เราอยากทำให้เสร็จบางจังหวัดเสร็จไปแล้ว 100-200 แปลง บางจังหวัด 10,000-30,000แปลง บางจังหวัดไม่เกิน 3,000 แปลง ปีเดียวรังวัดเสร็จรวมถึงจังหวัดปริมณฑลและพื้นที่ภาคกลาง ส่วน อีสานตอนบน อีสานตอนล่างและ 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่มีใครกล้ารับปาก เพราะอันตราย"

อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวต่อไปว่า การยกระดับจากส.ค.1 เป็นโฉนด จะส่งผลให้ แปลงที่ดินมีมูลค่าเพิ่ม และสามารถจำนองกับสถาบันการเงินและจำหน่วยจ่ายโอน ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนโดยทั่วไปขณะเดียวกัน ยังช่วยแก้ปัญหาส.ค.1 บินไปสวมสิทธิ์ที่ดินแปลงอื่นของชาวบ้านที่ไม่ตรงใบตรงแปลง หรือ ส.ค.1 บวมที่มีการออกเอกสารสิทธิเนื้อที่เกินกว่าส.ค.1 ซึ่งต้องมีการไล่เพิกถอนเป็นคดีความกันไม่จบสิ้น

ด้าน นางสุจิรา อาแว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่จังหวัดปัตตานี มีประชาชนยื่นคำขอ ส.ค.1 เป็นโฉนดมาก ถึง 37,000 แปลง แต่มีปัญหาภาคใต้ตอนล่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยง ขณะนี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง หรือจากศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินลงมาแต่ อย่างใด

ขณะที่ นายจำลอง โพธิ์เพชร เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย กล่าวว่า ส.ค.1 ที่ประชาชนยื่นก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 หรือก่อนกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินฉบับที่ 11 ยกเลิก ส.ค.1 บังคับใช้ มีจำนวนกว่า 300 แปลง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรังวัดออกโฉนด จากจำนวนทั้งหมดกว่า 1,000 แปลง ซึ่งปัจจุบันมีตกค้างหรือเจ้าของที่ดินยื่นคำขอไม่ทัน ทำให้มีเข้ามาปรึกษาที่สำนักงานที่ดินจำนวนมาก

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 23-26 ม.ค. 54

0 ความคิดเห็น: