ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
26 มกราคม 2554

กลุ่มทุนตีปีกรับยางราคาพุ่ง ค่ายเสี่ยเจริญ-ซีพี-ศรีตรัง-ไทยฮั้วได้แต้มต่อลุยบุกเบิกล่วงหน้า นักธุรกิจ-นักการเมืองแห่ถอดสูทหันลงทุนปลูกยางรับกระแส ซื้อ-ขายเปลี่ยนมือที่ดินคึกคักทั้งภาคเหนือ-อีสาน บางจุดราคาพุ่ง 4-5 เท่า หลังทุนต่างถิ่นจากส่วนกลาง-ภาคใต้เข้าไปกว้านซื้อ เผยอินเทรนด์สุดๆ ประกาศซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์

สถานการณ์ตลาดยางพาราที่ราคาซื้อขายยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากจะปลุกกระแสให้เกษตรกรทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้หันมาปลูกพืชเกษตรชนิด นี้กันขนานใหญ่แล้ว ยังดึงดูดใจกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน และนักการเมืองจำนวนมากอีกด้วย

รูปธรรมที่เห็นชัดเจนคือ ความเคลื่อนไหวซื้อขายที่ดินสำหรับปลูกสร้างสวนยาง กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โดยกลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุนทั้งจากส่วนกลาง นักธุรกิจ นักลงทุนในพื้นที่ และเจ้าของสวนยางรายใหญ่ในภาคใต้ ที่ต้องการขยาย หรือย้ายลงทุนปลูกสร้างสวนยางในภาคเหนือและอีสานแทน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง และที่ดินในภาคใต้มีราคาแพง ส่งผลให้การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ และอีสานคึกคักขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับราคาซื้อขายที่พุ่งสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ที่น่าสนใจคือมีการประกาศซื้อขายที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสวนยางพาราผ่านสื่อยอดฮิต คือสื่อออนไลน์กันแพร่หลายอย่างที่ ไม่เคยปรากฏมาก่อนกับพืชเกษตรชนิดอื่นอีกด้วย

ทุนธุรกิจ-การเมืองแห่ขุดทอง "สวนยาง"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในส่วนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และนักธุรกิจ นักลงทุนนั้น กระแสความสนใจยางพาราเกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมาบูมมากขึ้น ตามแนวโน้มราคายางในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างบริษัท เทอราโกร จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัทพรรณธิอร กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มบุกเบิกปลูกยางพาราตั้งแต่ปี 2547 ช่วงที่รัฐบาลในยุคนั้นจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่

ปัจจุบันกลุ่มนี้มีพื้นที่ปลูกยางรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นไร่ ในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ กาญจนบุรี, นครสวรรค์, หนองคาย, พะเยา, เชียงราย, อุดรธานี, เพชรบูรณ์, อ.ด่านซ้าย จ.เลย, อ.ปลวกแดง จ.ระยอง, ชลบุรี และปราจีนบุรี จากเป้าหมายทั้งหมดที่ตั้งไว้ 100,000 ไร่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพร้อมรับซื้อผลผลิต ในรูปคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งด้วย เนื่องจากตามแผนจะลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ทั้งผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และโรงงานแปรรูปยาง ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ก็เดินหน้าธุรกิจยางพาราเพื่อการส่งออกโดยร่วมทุนจีนและญี่ปุ่น นอกจากมีบริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

ส่วนนักการเมืองที่หันมาลงทุนปลูกยาง อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคเสรีธรรม นายศุภชัย โพธิสุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีสวนยางพาราใน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นธุรกิจของครอบครัว ฯลฯ

"เหนือ-อีสาน" บูมทุกจังหวัด

นายสุรพล ชูจันทร์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยางพารากลายเป็นพืชยอดฮิตสำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์ไปแล้ว เพราะหลังมีเกษตรกรรุ่นบุกเบิกนำมาปลูกเมื่อหลายปีก่อนและได้ผลดี ก็มีเกษตรกรที่เคยปลูกพืชอื่น และผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นหันมาปลูกสร้างสวนยาง กันมากขึ้น เห็นได้จากการทำสวนยางขยายไปทุกอำเภอตั้งแต่ อ.เมือง อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า อ.หนองไผ่ ฯลฯ เนื่องจากสภาพพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นที่สูงและภูเขาเหมาะสมในการทำสวนยาง ทำให้ขณะนี้การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธิมีเพิ่มขึ้นอย่าง เห็นได้ชัด ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับสูงขึ้นด้วย คิดว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือและอีสาน ก็น่าจะมีกระแสตื่นตัวเรื่องการปลูกยางไม่แตกต่างกัน

สอดคล้องกับข้อมูลที่นายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ระบุว่าซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินใน จ.เชียงราย มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จากการเข้ามากว้านซื้อที่ดิน เพื่อใช้ปลูกยางพาราของนักธุรกิจนักลงทุนจากภาคใต้ และจังหวัดอื่น ๆ ในจำนวนนี้มีทั้งที่ซื้อที่ดินขนาด 100-200 ไร่ และรายใหญ่ที่ซื้อที่ดินนับพันไร่ สำหรับพื้นที่ที่ปลูกยางกันมากมี อ.เชียงของ อ.เทิง อ.แม่จัน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เน้นซื้อที่ดินมีเอกสารสิทธิ เพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาคใต้ไร่ละ 4 แสนหาซื้อไม่ได้

นายเพิก เลิศวางพงศ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของภาคใต้ราคาซื้อขายสวนยางพาราในภาคใต้ขยับขึ้นต่อเนื่อง เช่น จากปี 2552 ราคา 80,000-100,000 บาท/ไร่ ขณะนี้เริ่มต้นที่ 200,000 บาท/ไร่แล้ว และการขึ้นไปซื้อที่ดินราคาถูกในภาคอีสาน และภาคเหนือเพื่อปลูกยางนั้น ตอนนี้ไม่มีที่ดินราคาถูกแล้ว

ขณะที่นายสนิท ภิวัฒนกุล เจ้าของสวนยางพาราใน อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ปี 2553 ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายสวนยางพาราอยู่ที่ 220,000 บาท/ไร่ แต่ปี 2554 น่าจะขยับมาขึ้นไปที่ 300,000-400,000 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ไม่ค่อยมีใครอยากขาย เพราะเมื่อขายไปแล้วไม่สามารถจะหาซื้อได้อีก

ด้านนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.สงขลา เขต 1 กล่าวว่า จากการรวบรวมศึกษาวิเคราะห์ราคาสวนยางพารา ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้พบว่า ราคาสวนยางก่อนกรีด 1 ปี โดยเฉลี่ยในทำเลติดถนน หรือที่สามารถกรีดยางได้แล้วราคาขายอย่างต่ำอยู่ที่ไร่ละ 250,000 บาท ถ้าไม่ติดถนนไร่ละ 200,000 บาท

อินเทรนด์ "ซื้อ-ขาย" ผ่าน "สื่อออนไลน์"


ผู้สื่อ ข่าวรายงานว่า จากที่ปัจจุบันการปลูกยางพาราได้รับความนิยมจากทั้งกลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุน นักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาในระดับที่สูง และเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และสื่อใหม่ ๆ ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้จึงเลือกใช้วิธีติดต่อสื่อสารในการประกาศซื้อขาย หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร และสถานการณ์เกี่ยวกับยางพาราโดยผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจากสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสามารถสื่อถึงกันได้ในวงกว้าง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 26 ม.ค. 54

0 ความคิดเห็น: