ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
13 ธันวาคม 2553

แบงก์ชาติออกมาตรการสกัดฟองสบู่อสังหาฯ ประเดิมคลอดเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน-คอนโดฯ ระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทนำร่อง เริ่ม1ม.ค.54 บีบเพิ่มวางเงินดาวน์กลุ่มซื้อคอนโด วงการชี้กระทบกลุ่มเริ่มทำงาน-หนุ่มสาวออฟฟิศ ขณะที่ข้าราชการ พนง.รัฐวิสาหกิจไม่ต้องเข้าเกณฑ์ เหตุหน้าที่การงานมั่นคง ความเสี่ยงต่ำ

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับเกณฑ์น้ำหนักความเสี่ยง ในการคำนวณเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ปัจจุบันไม่ว่าจะให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value : LTV ratio) ที่ระดับเท่าไรจะใช้น้ำหนักความเสี่ยงเท่ากันหมด คือ 35% แต่หลักเกณฑ์ใหม่ คือในกรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาเกิน 10 ล้านบาท ถ้าปล่อยกู้ LTV ไม่เกิน 80% ให้คงน้ำหนักความเสี่ยงเท่าเดิม 35% แต่ถ้าปล่อยกู้ LTV มากกว่า 80% จะต้องคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 75% นั่นคือต้นทุนของธนาคารจะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในกรณีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะแบ่งเป็นคอนโดมิเนียม หรือแนวสูง โดยหากปล่อยกู้ LTV ไม่เกิน 90% หรือมีเงินดาวน์ 10% ของราคาซื้อขายจริง จะให้คำนวณน้ำหนักความเสี่ยง 35% แต่ถ้าปล่อยกู้ LTV มากกว่า 90% หรือมีเงินดาวน์น้อยกว่า 10% จะต้องคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 75% โดยจะมีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่ 1 ม.ค. 2554

สำหรับกรณีปล่อยกู้บ้าน ทาวน์เฮาส์ หรือแนวราบ ถ้าปล่อยกู้ LTV ไม่เกิน 95% หรือมีเงินดาวน์ 5% ให้คำนวณน้ำหนักความเสี่ยง 35% แต่ถ้าปล่อยกู้ LTV ต่ำกว่า 95% หรือมีเงินดาวน์ไม่ถึง 5% จะต้องคำนวณน้ำหนักความเสี่ยง 75% ในส่วนนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555

ทั้งนี้ จะยกเว้นไม่ต้องคำนวณน้ำหนักความเสี่ยง สำหรับกรณีปล่อยกู้คอนโดฯและที่อยู่อาศัยที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้กับข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพราะมีการหักเงินเดือน มีความมั่นคงของตำแหน่งหน้าที่การงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า

นายเกริกกล่าวว่า ธปท.ไม่ได้แก้ไขหลักเกณฑ์เรื่อง LTV สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภาวะตลาดที่มีการปล่อยกู้ LTV ในระดับ 90% และ 95% สำหรับคอนโดฯและบ้านอยู่แล้ว ที่สำคัญ ธปท.เห็นตรงกับผู้ประกอบการ คือในปัจจุบันยังไม่มีภาวะฟองสบู่ทั้งด้านดีมานด์และซัพพลาย แต่เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกัน ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหา โดยเหตุผลที่ทำ เพราะช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการลด แลก แจก แถม ปล่อยกู้ LTV ต่ำกว่า 90% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี52 มีสัดส่วน 26% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้ปรับเพิ่มเป็น 30% ในไตรมาส 2 ปีนี้

"มาตรการที่ทำ เพื่อป้องกันปัญหา ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย มากขึ้น เพราะจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น หากปล่อย LTV ต่ำเกินไป และสิ่งที่ทำ เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีน คือในยามปกติควรจะฉีดยาไว้เล็กน้อย ก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าไปฉีดยาตอนไม่สบาย หรือมีปัญหาแล้วออกมาตรการ ตลาดอาจพังได้ เหมือนกรณีซับไพรม" นายเกริกกล่าว

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2553 สินเชื่อคอนโดฯขยายตัว 44% ขณะที่สินเชื่อบ้านขยายตัวกว่า 10%

ด้านนางสาวพิกุล เกตุงาม ผู้จัดการผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่น่าจะมีผลกระทบกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อบ้านเดี่ยว เนื่องจากปัจจุบันมีการขอกู้และอนุมัติในวงเงินประมาณ 95% อยู่แล้ว แต่สำหรับลูกค้าสินเชื่อคอนโดมิเนียมอาจจะมีผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะในตลาดระดับกลางที่มูลค่าคอนโดมิเนียมไม่เกิน 3 ล้านบาท จำเป็นที่จะต้องมีเงินดาวน์ รวมถึงเงินตกแต่ง ซึ่งเป็นเงินก้อนแรกสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานจะยิ่งมีบ้านหลังแรกได้ช้าลง แต่จะเป็นโอกาสให้กับผู้ที่มีเงินทุนเพื่อการปล่อยเช่าเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

0 ความคิดเห็น: