ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
22 กันยายน 2552

คลัง เล็งปรับใหม่มูลค่าบ้าน-ที่ดินเข้าข่ายยกเว้นภาษีทรัพย์สิน เหลือไม่เกิน 5 แสนบาท จากเดิมไม่เกิน 1 ล้านบาท ระบุใครมีบ้านหลังละล้านไม่ถือว่าเป็นคนจน เผยเอกชนเริ่มวางแผนใช้ประโยชน์หวังเลี่ยงจ่ายอื้อแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาคเอกชนในรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังเป็นประเด็นปัญหาหรือมีความเห็นไม่ ตรงกันนั้น ล่าสุดมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีนั้นสูงเกินไป ซึ่งอาจทำให้มีกลุ่มหลุดจากระบบภาษีจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จึงอาจลดลงมาเหลือเพียง 5 แสนบาทเท่านั้น นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีบ้านรอการขาย จะให้เสียภาษีในอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ดินรอการพัฒนาจะให้เสียภาษีในอัตราเดียวกับที่รกร้างว่างเปล่า แต่จะยกเว้นภาษี 2-5 ปี รวมถึงที่ดินที่ใช้ประโยชน์หลายอย่างบนพื้นที่เดียวกัน เช่น ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นร้านค้าด้วย จะให้แยกการเสียภาษี หากใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย หรือหากเป็นร้านค้า จะเสียภาษีในอัตราเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะประชุมเพื่อหาข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น คงไม่สามารถเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีทันภายในเดือนนี้

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ในหลักการเบื้องต้น ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายภาษีที่ดิน และขอให้ผลักดันออกมาบังคับใช้ก่อน ฝ่ายกระทรวงการคลังเห็นว่าอัตราภาษีที่กำหนดมีความเหมาะสมแล้ว โดยยึดหลักคนรวยควรเสียภาษีมากกว่าคนจน ประการที่สองภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ภาษีเงินได้ที่จะยกเว้นหรือขอ ลดหย่อนได้ ทุกคนควรมีส่วนร่วมเสียภาษีให้ท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นๆ นั้น ผู้ที่ได้รับยกเว้นจึงควรเป็นกลุ่มคนจนจริงๆ และกลุ่มปานกลางค่อนไปทางจน รวมถึงเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น อีกทั้งราคาบ้าน 1 ล้านบาทนั้น ในต่างจังหวัดน่าจะมีจำนวนมากและไม่ถือว่าเป็นคนยากจน จึงควรเสียภาษีด้วยซึ่งก็เป็นเงินไม่มากนัก การประเมินราคาบ้านและที่ดินยึดตามแบบบ้านที่มี 61 แบบของกรมธนารักษ์ ไม่รวมการตกแต่งภายใน นอกจากนี้ยังจะอำนวยความสะดวกในการเสียภาษีทางไปรษณีย์ได้ด้วย

"ที่ผ่านมาภาษีบำรุงท้องถิ่นรั่วไปอย่างมาก เจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้เข้มงวดในการติดตามให้มาจ่ายภาษี ยิ่งในกรณีเจ้าของที่ดินย้ายไปอยู่ต่างถิ่น ส่วนภาษีโรงเรือนนั้นยอมรับว่าส่วนใหญ่จะหลบเลี่ยงและไม่จ่ายตามความเป็น จริงเพราะมีอัตราภาษีสูง หากต่อไปเปลี่ยนมาใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้การหลบเลี่ยงหรือ จ่ายภาษีเท็จน้อยลง เพราะในกฎหมายจะระบุว่าหากไม่มีใบเสร็จจ่ายภาษีมาแสดงจะไม่สามารถซื้อขายตอน เปลี่ยนมือที่ดินหรือทรัพย์สินนั้นๆ ได้" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนของสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินหรือที่อยู่กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บสก.) นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า อาจเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องกำหนดไว้ท้ายกฎหมายหรือบทเฉพาะกาลในการยก เว้นแต่จะมีระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น 5 ปี ตามระยะเวลาการถือครอง ส่วนกรณีของภาคเอกชนที่มีที่ดินครอบครองจำนวนมาก ส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนและหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากที่ดิน แล้ว เช่น การนำไปหารายได้จากค่าเช่า ทำที่จอดรถ บริหารทำตลาดนัด หรือนำไปทำการเกษตรระหว่างที่รอขายที่ดินหรือพัฒนาทำอย่างอื่นเพื่อหลีก เลี่ยงการเสียภาษีในอัตราสูงสุด 0.5% ส่วนกรณีปล่อยรกร้างว่างเปล่าและต้องเสียเพิ่ม 2 เท่า ทุกๆ 3 ปี

สำหรับประเด็นการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินที่มีผู้เสนอให้จัดสรร เงินจากภาษีมาจัดตั้ง 2% เตรียมไว้ซื้อที่ดินที่จะมีผู้ปล่อยออกมาในตลาดก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ และนำไปจัดสรรให้เช่าหรือขายให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามหลักการคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขัดกับหลักการกระจายอำนาจและกระจายเงินให้ท้องถิ่น เพราะเหมือนการดึงเงินกลับเข้าสู่ส่วนกลาง แนวทางที่เป็นไปได้จึงอาจให้ท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งกองทุนขึ้นเองเพื่อบริหารจัดการภายในท้องถิ่น มองว่าคงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นทุกท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ดินที่จะถูกปล่อยขายออกมากกว่า อีกทั้งยังไม่มีกลไกรองรับที่ชัดเจนเหมือนในต่างประเทศ

มติชนออนไลน์ 21-09-52

0 ความคิดเห็น: