ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
31 สิงหาคม 2552

เปิดหลักการและเหตุผลจัดตั้ง โฉนดชุมชน

หลักการและเหตุผล

เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการตอบสนองถึงข้อเรียกร้องจากประชาชนและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน และบุกรุกที่ดินของรัฐผ่านโครงการโฉนดชุมชน ซึ่งได้ผ่านการศึกษาทางวิชาการและทดลองใช้มาในระดับหนึ่ง และได้ผลสำเร็จบางส่วน แต่ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวติดขัดด้วยปัญหาสำคัญ กล่าวคือ ปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายออกมารองรับโดยเฉพาะ จึงก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำเนินงาน และขาดองค์กรกลางที่เป็นเจ้าภาพ ตลอดจนขาดการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการที่ชัดเจนในการดำเนินงานสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สรุปสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

1. คำปรารภ เป็นการนำเสนอถึงเจตนารมณ์ของการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ โดยที่เห็นเป็นการสมควรจัดให้มีโฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายการถือครองที่ดินในประเทศไทย ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล รักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล ยั่งยืน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

2. นิยามศัพท์ที่สำคัญ เป็นการกำหนดคำนิยามศัพท์ที่จำเป็นในการบังคับใช้ระเบียบนี้
"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า กระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
"ที่ดินของรัฐ" หมายความว่า ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท อาทิเช่น
ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สงวนหวงห้ามของรัฐ ที่สาธารณประโยชน์ รวมถึงที่ราชพัสดุ และที่ดินซึ่งรัฐได้มาโดยธนาคารที่ดิน
"โฉนดชุมชน" หมายความว่า สิทธิร่วมกันของชุมชนในการบริหารจัดการ การครอบครองที่ดินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน และเป็นการรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเลือกรูปแบบการผลิต ที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบภูมินิเวศน์ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล
"ชุมชน" หมายความว่า กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อการจัดการดูแลตนเองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้
"จังหวัด" หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานคร
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน

3. ผู้รักษาการตามระเบียบ นายกรัฐมนตรี

4. การจัดตั้ง ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน" เรียกโดยย่อว่า "ปจช." ประกอบด้วย
(1) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ประธานกรรมการ
(2) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
(3) ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
(4) ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
(5) ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ
(6) ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
(7) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธาน ปจช. แต่งตั้ง อีกไม่เกินหกคน กรรมการ
(8) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการ

5. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน
ให้ ปจช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอนโยบายและแผนงานในการดำเนินงานโฉนดชุมชนต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
(2) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบนี้
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีความพร้อมในการดำเนินงานโฉนดชุมชนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
(4) ตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของชุมชน ที่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานโฉนดชุมชน ตลอดจนติดตามการดำเนินงานโฉนดชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และยกเลิกโฉนดชุมชนที่ทำผิดเงื่อนไข
(5) ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการใดๆ ที่จำเป็นแก่การดำเนินงานจัดให้มีโฉนดชุมชนตามที่คณะกรรมการกำหนด
(6) ประสานงาน ติดตาม และตรวจสอบให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย และแผนงาน ในการดำเนินงานโฉนดชุมชน
(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานให้ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(8) เรียกให้หน่วยงานของรัฐส่งข้อมูล เอกสาร หลักฐานและข้อเท็จจริง หรือขอให้ส่งผู้แทนมาชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาของ ปจช. หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่ ปจช. แต่งตั้ง
(9) ดำเนินการหรือปฏิบัติงานอื่นใดที่เกี่ยวกับการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

6. หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโฉนดชุมชน โดยมีหลักการสำคัญ คือ

6.1 เพื่อประโยชน์ในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ อย่างยั่งยืน ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีที่ดินของรัฐพิจารณาให้ ชุมชนซึ่งรวมตัวกันอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นระยะเวลาไม่น้อย กว่าสามปีก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินของ รัฐร่วมกันภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เมื่อคณะกรรมการกำหนดให้พื้นที่ใดดำเนินการให้มีโฉนดชุมชนแล้ว ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสั่งการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยไม่ชักช้า

ระยะเวลาในการดำเนินงานโฉนดชุมชนตาม วรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐจะกำหนดเกินกว่าครั้งละสามสิบปีไม่ได้ และภายในเก้าสิบวันก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ ปจช. พิจารณาถึงความเหมาะสมในการให้สิทธิดำเนินงานโฉนดชุมชนต่อไป


6.2 ในการให้โฉนดชุมชนแก่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้เป็นมีการบุกรุกภายหลังจากระเบียบนี้ใช้บังคับ

6.3 ชุมชนที่มีสิทธิได้รับโฉนดชุมชนจะ ต้องจัดตั้งตัวแทนเป็นคณะกรรมการชุมชนขึ้นเพื่อกระทำการแทนในนามของชุมชน ประกอบด้วย กรรมการที่เลือกตั้งกันเองภายในชุมชนอย่างน้อยเก้าคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน และให้กรรมการเลือกกันเองเป็นประธานคนหนึ่ง

หากชุมชนใดรวมตัวกันเป็นสมาคม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือหมู่คณะอื่น ให้คณะผู้ทำการแทนทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการชุมชนตามวรรคหนึ่ง

6.4 ให้คณะกรรมการชุมชนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ขอบเขตการจัดการที่ดินของชุมชน โดยครอบคลุมถึงที่ดินส่วนบุคคล ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำการเกษตรกรรม ที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
(2) กำหนดแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินและการจัดการระบบการผลิต โดยคำนึงถึงการผลิตที่พึ่งพาตัวเอง และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์
(3) กำหนดแผนการอนุรักษ์ การดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืน
(4) กำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน
(5) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการ และการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น รวมทั้งการควบคุมให้บุคคลในชุมชนปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว
(6) ดำเนินการให้มีการจัดตั้งกองทุนที่ดินของชุมชน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับโฉนดชุมชน
(7) ดำเนินการหรือปฏิบัติการอื่นเกี่ยวกับการดำเนินการโฉนดชุมชนตามระเบียบนี้

6.5 ในกรณีที่มีการกระทำผิดเงื่อนไขที่ให้ไว้ของชุมชนที่ได้รับสิทธิ ให้หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจยกเลิกโฉนดชุมชนได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน

6.6 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตามระเบียบนี้ภายในหกสิบวัน นับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับและในวาระเริ่มแรกให้มีการดำเนินงานโฉนดชุมชนในพื้นที่นำร่องจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29-08-52

0 ความคิดเห็น: