ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
30 สิงหาคม 2552

กรมที่ดิน ลุยต่อเนื่อง โฉนดดิจิตอลเฟส 2 ตั้งศูนย์ข้อมูล-แผนที่แห่งชาติ ปูพรม 30 ล้านแปลงทั่วประเทศ เชื่อมระบบทุกหน่วยงาน ใช้งบไทยเข้มแข็ง 4,500 ล้าน ด้านนักวิชาการ-เอกชนแฉระบบสารสนเทศที่ดินไม่เวิร์ก พบพิรุธเร่งประมูลเปิดช่องเอกชนบางรายเข้าระบบ วงในระบุนำโฉนดที่ดินทั่วประเทศบรรจุในระบบเท่านั้น ไม่แก้ปัญหาเอกสารสิทธิทับซ้อน

นายประทีป เจริญพร รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า งบประมาณปี 2553 (ตุลาคม 2552-กันยายน 2553) กรมที่ดินได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งระยะ 2 วงเงิน 4,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลที่ดินและแผนที่แห่งชาติ ระยะที่สอง ตามโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดินต่อจาก เฟสแรก ที่ได้ผู้รับเหมาไปแล้ว วงเงิน กว่า 700 ล้านบาท ในลักษณะให้เอกชนจัดทำทะเบียนที่ดินโดยนำรายชื่อเจ้าของเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแต่ละแปลงบรรจุลงในระบบดิจิตอล

อย่างไรก็ดีโครงการ ระยะที่ 2 นี้ จะนำโครงการระยะที่ 1 ที่เอกชนขึ้นทะเบียนแปลงที่ดินในระบบดิจิตอลแล้ว มาตรวจสอบด้วยระบบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศทาบกับแปลงที่ดิน อัตรา ส่วน 1:4,000 โดยจะตรวจสอบรายละเอียด แบบแปลงต่อแปลง ว่าเอกสารสิทธิใบนั้นตรงกับแปลงที่ดินหรือไม่ ชื่อผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ถูกต้องตรงกันหรือไม่ หากมีการทับซ้อน หรือ มีการสวมสิทธิ์ ที่ดินแปลงเดียวมี 2 เจ้าของ ก็จะกันออกมาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งจะไม่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนหรือ ออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน โดยแปลงที่ดินที่ดำเนินการทั่วประเทศจะมีประมาณ กว่า 30 ล้านแปลง หากตรวจสอบให้เอกสารสิทธิตรงกับแปลงที่ดินแล้วจะบรรจุลงในระบบและเชื่อมให้ กับหน่วยงานต่างๆสามารถใช้งานได้ นอกเหนือจากใช้เฉพาะงานของกรมที่ดินเท่านั้น

รองอธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า กรมสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีหาก ได้รับจัดสรรวงเงิน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 -2555 ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ข้อมูลแปลงที่ดินถูกต้องแม่นยำ ค้นหาง่าย และมีความทันสมัยเป็นปัจจุบันมากที่สุด โดย กรมที่ดินจะดำเนินการเอง และมอบให้สำนักงานที่ดินสาขา /จังหวัดทั่วประเทศจำนวน 435 สาขาดำเนินการแปลงละ 150 บาท ส่วนจะให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการด้วยหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ ว่า โครงการโฉนดดิจิตอล ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเพียงการบรรจุแปลงที่ดินลงในสารบบเท่านั้น รองอธิบดี กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงและยืนยันว่า ทุกอย่างดำเนินการอย่างโปร่งใส

ด้านแหล่งข่าวจากวงการแผนที่ภูมิสารสนเทศ เปิดเผยว่า โครงการจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดสรรที่ดินทำกินให้ เกษตรกรทั่วประเทศ มีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2552 - 2556 ทั้งสิ้น ประมาณ 12,450 ล้านบาท เป็นโครงการที่มีเจตนาที่ดี แต่ในแง่ของเนื้องานการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน ของกรมที่ดิน ที่มีการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบตามโครงการระยะที่ 1 ปี 2552-2554 มูลค่า 756 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไปแล้วนั้นเป็นการนำโฉนดที่ดินทั่วประเทศเดิมที่มีอยู่มาแปลงให้อยู่ในรูป แบบของดิจิตอล ผ่านกระบวนการสแกนภาพเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล

โดยที่ไม่มีการปรับแก้ไขข้อมูลโฉนดที่มีปัญหาให้มีความถูกต้อง อย่างพื้นที่บุกรุกป่า บุกรุกพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมองว่าเมื่อพัฒนาระบบดังกล่าวเสร็จแล้วจะไม่ตอบโจทย์ หรือไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินให้กับรัฐบาล ทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนปัญหาให้ซับซ้อนเข้าไปอีก และจะทำให้ประเทศชาติเสียเงินเปล่า

"ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว โดยก่อนหน้านี้กรมที่ดินเคยได้รับงบจากธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ให้ทำการพัฒนาระบบดังกล่าว แต่ไม่สามารถทำงานตามที่ต้องการได้ ซึ่งก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก"

ทั้งนี้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นภาครัฐต้องจัดการปัญหาพื้นที่ทับซ้อน พื้นที่หลวงทั่วประเทศก่อน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะใช้เวลา 2-3 ปี เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ขณะที่ในแง่ของเทคนิค จะต้องดำเนินการแก้ไขข้อมูลโฉนดให้ถูกต้องสามารถซ้อนกับภาพถ่ายอย่างถูกต้อง เพราะข้อมูลโฉนดนั้นหากในกระดาษผิดรูปร่างไปจะเกิดปัญหาอย่างมากหากนำมาอยู่ ในรูปแบบของดิจิตอล ส่วนในแง่ของระบบฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ไม่น่ามีปัญหา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในวงการมีการตั้งข้อสังเกตว่าโครงการดังกล่าวมีความเร่งรีบประมูล เหมือนกับมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า บางบริษัทไม่เคยทำระบบจีไอเอส ไม่เคยได้งานประมูลของกรมที่ดิน พยายามเข้ามาในโครงการดังกล่าว เพื่อหวังเป็นบันได ไปสู่โครงการเฟสต่อไป คือ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่ดิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท

ขณะที่นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิศาสตร์สนเทศ ว่ากรมที่ดิน ควรเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดินเพื่อประโยชน์ในการบริหาร จัดการที่ดินของประเทศ และควรมีการปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้อง ไม่ใช้วิธีการแบบในอดีต โดยกรมที่ดินจะต้องนำรูปแปลงโฉนด มาทาบกับภาพถ่ายจริงทางอากาศ ได้อย่างสนิท หรือ คลาดเคลื่อนไม่เกิน 50 เซนติเมตร ซึ่งถือว่ายอมรับได้ในแผนที่สัดส่วน 1:4000 แต่หากกรมที่ดินไม่ดำเนินการแก้ไข หรือปรับปรุงข้อมูลดังกล่าว ท้ายที่สุดระบบที่ลงทุนไป หรือ ข้อมูลโฉลดที่สแกนลงระบบฐานข้อมูลก็จะกลายเป็นขยะข้อมูล

"เสียดายที่อดีตอุตส่าห์ได้เงินกู้จากเวิลด์แบงก์มาแต่ก็ทำไม่สำเร็จ โครงการก่อนหน้านี้ กว่า 300 ล้านบาท และ กว่า 700 ล้านบาทที่เพิ่งประมูลไป ก็ไม่มีการดำเนินการ ซึ่งในโครงการใหม่ 4,500 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำศูนย์ข้อมูลที่ดินนั้น ได้มีการเรียกร้องไปให้มีการนำเอารูปแปลงโฉนดมาทาบกับภาพถ่ายทางอากาศ ถ้าไม่แก้ไขข้อมูล ทำออกมาก็เละหมด ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเท่าที่ดูแล้วโฉนดที่ดินที่มีเกือบทุกฉบับ มีความเลื่อมล้ำ กับพื้นที่จริงในภาพถ่ายทางอากาศหมด"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 27 - 29 ส.ค. 2552

0 ความคิดเห็น: