ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
29 สิงหาคม 2552

ประธานชมรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ระบุงานวิจัย"นอมินีต่างชาติ"ฮุบที่ชายทะเลเรื่องเก่า ประมาณ 70% เหตุช่องว่างกฎหมาย ขึ้นกับนโยบายรัฐ

สืบเนื่องจากกรณี นางศิริพร สัจจานันท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ออกมาเปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง "สภาพปัญหาการถือครองที่ดินอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าวในประเทศไทย ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ และระยอง" ซึ่งพบที่ดินริมทะเลในจังหวัดภูเก็ต ที่มีการปลูกสร้างอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นของนายทุนต่างชาติ

แม้จะถือครองถูกกฎหมาย แต่เป็นลักษณะนอมินีประเภทบุคคลและนิติบุคคล โดยเฉพาะ หาดราไวย์และป่าตอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะมีสำนักงานกฎหมายของไทยช่วยเหลือ โดยให้ลูกจ้างของสำนักงานเป็นนอมินี หรือ การสมรสกับคนไทย และต่อมาให้ฝ่ายไทยโอนสิทธิเก็บกิน หรือทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว หรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นภายหลังซื้อกิจการ หรือการซื้อขายโอนหุ้น หรือการโอนหุ้นลมถือหุ้นลม

นอกจากนี้ การศึกษาพบว่า มีชาวต่างชาติถือครองที่ดินรวมแล้วกว่า 20% ของพื้นที่ หากเป็นที่ดินริมทะเล เหมาะแก่การท่องเที่ยว พบว่า 90% เป็นของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ มีคนไทยถือหุ้นซ้ำๆ ในหลายบริษัท ในขณะที่ จ.ระยอง พบว่า บริษัทนิติบุคคลไทยมีกรรมการเป็นคนต่างด้าว ทั้งหมดประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ นายธนันท์ ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานชมรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เปิดเผยถึงการใช้นอมินีครอบครองที่ดินของชาวต่างชาติในภูเก็ต ว่ามีมานานแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนตัวการครอบครองที่ดินริมทะเล ไม่น่าจะมากถึง 90 % แต่จะอยู่ที่ประมาณ 60-70 % สาเหตุมาจากช่องว่างของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถทำได้ แม้ก่อนหน้านี้เคยมีการตรวจสอบการจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีชาวต่าง ชาติเป็นหุ้นส่วนกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเส้นทางการเงินที่นำมาใช้ลงทุนว่าเป็นอย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

"รูปแบบของการเข้าครอบครองนั้นเป็นที่ ทราบกันดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานกับคนไทย การเข้าไปถือหุ้นในนิติบุคคล เริ่มต้นก็เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด แต่ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เนื่องจากเม็ดเงินที่เขามีมากกว่า ซึ่งเหตุมีข่าวนอมินีต่างชาติขึ้นมาอีกครั้งก็ด้วยข้อมูลกรณีชาวต่างชาติ เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำนาซึ่งถือเป็นอาชีพสงวน"

นายธนันท์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าไม่อนุญาตเลย และต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวด แต่สำหรับภูเก็ตไม่มีที่ดินในการทำนา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้เคยพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติบางราย ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้เกิดการร่วมทุนกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนคนไทยที่เป็นคนท้องถิ่นหรือจากส่วนกลาง และไม่ใช้วิธีการประกอบการในรูปแบบของนอมินีอย่างที่เป็นอยู่

นายธนันท์ กล่าวอีกว่า การลงทุนด้วยรูปแบบของนอมินี ทำให้เราเสียเปรียบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะได้เพียงค่าธรรมเนียมไม่กี่พันบาทต่อรายการจัดตั้งบริษัท ในขณะที่บริษัทนอมินีเหล่านี้ไปทำการซื้อขายกันในต่างประเทศ ซึ่งมีเม็ดเงินเกิดขึ้นมหาศาล แต่เราไม่สามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้การเปลี่ยนมือถือครองที่ดิน ก็จะอยู่เฉพาะในกลุ่มของคนต่างชาติ การที่คนไทยจะซื้อคืนกลับมาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมาก เพราะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก สุดท้ายแล้วที่ดินก็ตกไปอยู่ในมือของคนต่างชาติ

นายธนันท์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหา ว่า เป็นเรื่องของนโยบายและเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องมีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างเข้มงวดและจริงจัง โดยต้องดูตั้งแต่การจดทะเบียนว่าเป็นอย่างไร ผลประกอบการ การเสียภาษี ซึ่งต้องใช้คนที่รู้กลไกของการใช้ช่องว่างกฎหมายที่เป็นอยู่ หรือ อาจจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อลดช่องว่างที่เกิดขึ้น

ด้าน นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ว่า การครอบครองที่ดินของนอมินีต่างชาติ ในภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ทำการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อเท็จจริงที่ชาวต่างชาติจะใช้วิธีเลี่ยงกฏหมาย โดยการจดทะเบียนสมรสกับคนไทย และให้เป็นผู้ครอบครอง เพราะกฎหมายระบุไม่ให้ชาวต่างชาติถือครองสิทธิ์ในที่ดิน เว้นแต่ประเภทอาคารชุด

ส่วนอีกกรณีเป็นการถือหุ้นผ่าน นิติบุคคล ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมกับคนไทย เมื่อจดทะเบียนถูกต้องก็สามารถที่จะซื้อที่ดินได้ ตามกฏหมายคนไทยจะต้องถือหุ้นในบริษัท 51 % ต่างชาติ 49 % แต่โดยพฤตินัยอาจจะมีการตกลงกันระหว่างผู้ถือหุ้นคนไทยกับชาวต่างชาติ ด้วยการโอนหุ้นกันภายหลัง ซึ่งก็ตรวจสอบได้ยาก

"ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาตรการป้องกันการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติโดยไม่ถูกต้อง ด้วยการกำหนดให้ดูการถือครองที่ดินและสอบสวนที่มาของเงินที่นำมาซื้อที่ดิน ว่าผู้ซื้อมีรายได้จริงหรือไม่ หากที่มาของเงินไม่น่าเชื่อถือก็จะไม่จดทะเบียนให้ และสั่งการให้ส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตได้ปฏิบัติตามระเบียบและตรวจสอบทุก ราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีจดทะเบียนสมรสกับคนไทย หรือการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท"

อย่างไรก็ตาม นายวิชัย ยังกล่าวถึงกรณีของนักลงทุนทางชาติที่เข้ามาก่อสร้างโรงแรมที่พักตามชายหาด ต่างๆ ว่า ส่วนใหญ่ใช้วิธีการเช่า ซึ่งสามารถเช่าได้ 30 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีก 30 ส่วนการถือครองผ่านนิติบุคคลร่วมกับคนไทยสามารถทำได้อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องของช่องว่างทางกฎหมาย ในการโอนหุ้นทีหลังซึ่งรัฐบาลต้องมีนโยบายในการตรวจสอบและส่วนราชการที่รับ ผิดชอบก็มีหน้าที่ต้องเข้าไปดูแล

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 28-08-52

0 ความคิดเห็น: