ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
28 กรกฎาคม 2552

สศค.เดิน สายสัมมนา "พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ทั่วประเทศ รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะเพียบ ชงรัฐบาล "มาร์ค" ชี้ขาด เผยผลักดัน กม.ใหม่บังคับใช้ แล้วค่อยออกพระราชกฤษฎีกา ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัย ที่ดินทำการเกษตรสำหรับผู้มีรายได้น้อย นิติบุคคลบ้านจัดสรร-อาคารชุด สินทรัพย์รอการขายในมือแบงก์-บสก.-กรมบังคับคดีอยู่ในข่ายได้รับการลดหย่อน ที่ดินเปล่าในนิคมอุตสาหกรรม-โครงการจัดสรร-บ้านที่เหลือขายในสต๊อกมีแนว โน้มได้อานิสงส์ด้วย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านโครงสร้างระบบภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ สศค.ได้เดินสายจัดสัมมนาวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เข้าใจถึงโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังผลักดัน และคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในหลาย ประเด็น ซึ่ง สศค.ก็รับไว้พิจารณาทั้งหมด มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยและที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตร เช่น บ้านพักอาศัยที่มีมูลค่าราคาประเมินอยู่ในระดับ 300,000-400,000 บาท ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับบ้านเอื้ออาทร รัฐบาลควรพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนอัตราภาษีเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ เพราะปกติกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนยากจนจริงๆ หากกำหนดให้เสียภาษีในอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน จะเป็นภาระหนัก สศค.จะรับไว้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ยกเว้นภาษีให้กับที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น อาจยกเว้นภาษีให้กับที่พักอาศัย หรือที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 300,000-400,000 บาท เหมือนกรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ยกเว้นภาษีให้ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 2 แสนบาท

ยกตัวอย่าง บ้านพร้อมที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท หากพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มี มูลค่าราคาประเมินไม่เกิน 3 แสนบาท ส่วนที่เกินไปอีก 7 แสนบาท ก็นำไปคำนวณอัตราภาษีตามปกติ กรณีเป็นที่พักอาศัยเสีย 0.1% แต่ถ้าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรเสีย 0.05% เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดยกเว้นภาษีให้กับบ้านที่มีเนื้อที่ไม่ เกิน 100 ตารางวา แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะยกเว้นภาษีให้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีมูลค่าเท่าไร และคงจะไม่ได้บรรจุลงไปใน พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยตรง แต่จะออกเป็นกฎหมายตามมาในภายหลัง

2) สาธารณูปโภค ส่วนกลาง เช่น ถนน ทางเท้า สวนสาธารณะ ภายใต้การดูแลของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่ดิน หรือนิติบุคคลอาคารชุด ที่จัดขึ้นมาภายใต้ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน และ พ.ร.บ.อาคารชุด เพื่อให้บริการผู้พักอาศัยและเป็นบริการสาธารณชน ผู้เข้าร่วมสัมมนาเสนอว่าควรยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ เช่น อาจจะให้ส่วนลด 10-20% ของภาระภาษีที่จะต้องเสียให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละปี สศค.รับไว้พิจารณาเช่นเดียวกัน แต่จะไม่ครอบคลุมถึงอาคารชุด สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส ฟิตเนส อาคารที่จอดรถที่มีการจัดเก็บค่าบริการต่างหาก คงจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.5% เนื่องจากเป็นการใช้ที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างในเชิงพาณิชย์

3) สินทรัพย์รอการขายซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ บ้านจัดสรรที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังขายไม่ได้, สินทรัพย์รอการขาย (NPA) ที่อยู่ในมือของสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บสก.) และสินทรัพย์รอการขายที่ตกค้างอยู่ที่กรมบังคับคดีจำนวนมาก มีผู้เสนอให้ยกเว้นภาษี ประเด็นนี้ ก็รับไว้พิจารณาเช่นกัน

4) กรณี ที่ดินที่ใช้ในนิคมอุตสาหกรรม หรือที่ดินที่ผู้ประกอบการเตรียมไว้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินว่างเปล่า ยังไม่มีการก่อสร้างเป็นโรงงาน หรือบ้านพักอาศัย จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.5% ต่อปี และถ้าถือครองเกิน 3 ปีไปแล้วยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 1 เท่า พบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องซื้อที่ดินเก็บไว้สำหรับพัฒนา เพื่อขาย อย่างนิคมอุตสาหกรรมก็จะต้องมีการจัดสรรที่ดินเตรียมไว้ให้ลูกค้าดูล่วงหน้า อยู่ในระหว่างการศึกษาว่าจะดำเนินการในแนวทางใด

ขณะเดียวกันมี ประเด็นปลีกย่อยอีกจำนวนมาก เช่น บ้านพักอาศัยที่บริเวณชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายของ (โชห่วย) หรือกั้นห้องให้เช่าขนาดเล็กๆ แต่ไม่ใช่อพาร์ตเมนต์ รวมทั้งอาคารที่จอดรถยนต์ สนามกีฬา ร้านค้า ฯลฯ ที่ต้องเสียภาษีในหลักการดังกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 27-07-52

0 ความคิดเห็น: