ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
29 มิถุนายน 2552

คณะกรรมการอสังหาฯ เตรียมเสนอข้อมูลนายกฯ ขอเพิ่มเพดานถือครองอสังหาฯ ของชาวต่างชาติ 24 ก.ค.นี้

คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce of Thailand : JFCCT) เป็นหน่วยงานย่อยภายใน JFCCT ซึ่งสำนักงานใหญ่แห่งนี้มีสมาชิกหอการค้าต่างประเทศเกือบ 30 ประเทศ นายปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอสังหาฯ เผยว่า บทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ คือ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อช่วยปรับปรุงศักยภาพ ให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศให้ดียิ่งขึ้นไป

ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างหาข้อมูล คาดว่าจะนำเสนอรายละเอียดต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ และจากนั้นอีก 6 เดือน จะทำเป็นสมุดปกขาวลงรายละเอียดนำเสนอต่อ JFCCT อีกครั้ง เพราะการออกมาตรการใดๆ จะเน้นทำในรูปแบบรัฐต่อรัฐ

จากประสบการณ์ในฐานะเป็นหนึ่งในกรรมการหอการค้าไทย-สวีเดน พบว่า นักลงทุนต่างชาติ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัยระยะยาว จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาฯ ไทย ทำเลกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน และสมุย

ขณะนี้สวีเดนกำลังจัดตั้งกองทุนเกษียณอายุ หรือรีไทร์เมนท์ฟันด์ เพื่อเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทย ซึ่งปัจจุบันซื้อแล้ว 10,000 ยูนิต ตั้งเป้าใน 10 ปีจะเพิ่มเป็น 1 แสนยูนิต มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2.75 หมื่นล้านบาท

ประเด็นหลักที่คณะกรรมการชุดนี้กำลังเตรียมหารือและนำเสนอ คือ ความเป็นไปได้ในการครอบครองสิทธิสำหรับชาวต่างชาติ ที่มาพักอาศัยในไทยแบบระยะยาว และการขยายสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 30 ปี นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเพิ่มการถือครองกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติใน คอนโดมิเนียม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายให้ 49% ของห้องชุด รวมถึงการจัดการเรื่องวีซ่า สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยระยะยาว และตลาดบ้านมือสอง

"ตอนนี้เราจะต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร ถึงจะรักษาคนที่อยู่ให้อยู่กับเราตลอด เพราะหากจะพึ่งกลุ่มทุนใหม่ๆ หรือนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้เข้ามาไทยเพียวๆ อาจทำได้ยาก"

นายปฏิมา กล่าวด้วยว่า ยังมีคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในไทย แต่อาจติดปัญหามีเงินเก็บไม่มากพอที่จะซื้อบ้าน ต้องพึ่งแหล่งเงินกู้ในประเทศ แต่ไม่สามารถทำได้ จึงต้องการเสนอให้ต่างชาติสามารถขอสินเชื่อในไทยได้ จากปัจจุบันยังติดกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หากมีการปรับกฎเกณฑ์ดังกล่าว เชื่อว่าจะสนับสนุนที่ดีต่อภาคเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนการถือครองสิทธิของชาวต่างชาติ ไม่ใช่เป็นการขายชาติหรือขายแผ่นดิน เพราะจะมีการวางกรอบปฏิบัติอย่างรอบคอบ ทั้งขนาดที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ที่จะต้องกำหนดเป็นโซน รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ช่วงการถือครอง และในกรณีที่จะเปลี่ยนมือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านภาษีอัตราพิเศษ รวมถึงกำหนดเรื่องระยะเวลาการนำเงินออกนอกประเทศด้วย

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29-06-52

0 ความคิดเห็น: