ภาษีธุรกิจเฉพาะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ บิ๊กจัดสรรเร่งขอคืนตามระเบียบ รายย่อยหายใจทั่วท้องเหมือนถูกต่อลมหายใจ แนะผู้บริโภคเร่งขอคืน
หลังจากพระราชกฤษฎีกาออกตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.11% สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นการค้า หรือหากำไรประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2552 จนถึง 28 มี.ค. 2553 ทำให้บรรดาผู้ประกอบการอสังหาฯ น้อยใหญ่ต่างหายใจทั่วท้องมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่สายป่านไม่ยาวได้เท่ากับรายใหญ่ที่จะมีทุนพร้อมจ่ายธุรกิจเฉพาะไปล่วงหน้า และขอคืนย้อนหลัง แม้ว่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ “ควรควักกระเป๋า” จ่ายให้กับรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงหวังให้การ “ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ” เป็น “โบนัส” ช่วยกระตุ้นตลาด ซึ่งการที่รัฐให้ความหวังว่าจะให้ “โบนัส” กับผู้ประกอบการแล้ว จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ ผู้ประกอบการจะรอคอยโบนัสก้อนโตนี้
นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่มาตรการ “ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ” จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการรายย่อยอาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ อย่างที่กล่าวแล้วว่า ไม่มีทุนหนาพร้อมจ่ายเงินก้อนโตดังเช่นรายใหญ่ ช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายจึงเลือกที่จะ “ชะลอโอน” ไปจนกว่ามาตรการจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพราะเกรงว่า การขอคืนจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมถึง แหล่งข่าวจากแวดวงอสังหาฯ ต่างมองว่า ต้องยอมรับว่ารายย่อยหลายรายไม่ได้มีระบบบัญชีที่ตรวจสอบได้ชัดเจนเหมือน บริษัทใหญ่ จึงหวั่นการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะย้อนหลัง
จากปัจจัยดังกล่าวเป็นผลให้ ในช่วงเวลาที่มาตรการยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โครงการจัดสรรของผู้ประกอบการรายย่อยหลายแห่งจึง “ผลักภาระ” ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ให้ “ลูกค้า” ที่ต้องการเร่งโอนเป็นผู้รับผิดชอบแทนก่อน โดยมีคำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการทำเรื่องขอคืนย้อนหลังให้ ซึ่งล่าสุด แม้ว่ามาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ยังมีผู้บริโภคหลายรายที่จ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะแทนผู้ประกอบการไปแล้ว ไม่ทราบว่ามาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า หลังจากที่มาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการเริ่มทยอยขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะไปบ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าจะทยอยได้รับคืนกลับมาเช่นกัน โดยเชื่อว่าขั้นตอนไม่น่าจะยุ่งยากมากนัก เหมือนกับการขอคืนภาษีทั่วไป
ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS กล่าวให้ความคิดเห็นว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐออกมาช่วยกระตุ้นตลาดภาคอสังหาฯ ซึ่งพฤกษาฯ เองก็ทยอยขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะไปแล้วเช่นกัน คาดว่าจะได้รับภาษีดังกล่าวคืนแล้ว และมองว่าขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้มีความยุ่งยากมากนัก
คนทั่วไป...ก็ขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะได้
สำหรับการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะของบุคคลทั่วไป นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวให้ความคิดเห็นว่า การลดภาษีธุรกิจเฉพาะจะ ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ทั้งของบริษัทพัฒนาที่ดิน และบุคคลทั่วไป หากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองไม่ถึง 5 ปี เดิมจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมินทรัพย์สิน
ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ด้วยการ “ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ” เหลือ 0.11% ทำให้เสียภาษีดังกล่าวน้อยลง ซึ่งสามารถขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ เสียไปแล้วได้เช่นกันในช่วงที่มาตรการนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองเกินกว่า 5 ปีไปแล้วก็ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าวอยู่แล้ว
นั่นหมายถึง บุคคลทั่วไปที่ขายที่อยู่อาศัย ที่ดินต่างๆ ซึ่งถือครองไม่เกิน 5 ปีในช่วงเวลาที่มาตรการยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการสามารถที่จะขอคืนได้ รวมถึง บุคคลทั่วไปที่ซื้อบ้านในโครงการจัดสรรต่างๆ และต้องรับภาระจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแทนผู้ประกอบการ ก็ต้องเร่งทวงถามเจ้าของโครงการที่ซื้อไปแล้วว่า จะขอคืนภาษีดังกล่าวได้อย่างไร และเมื่อไร?
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ มองประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลให้ “โบนัส” ด้วยการ “ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ” ซึ่งเปรียบเสมือนการลด “ต้นทุน” ทางอ้อมให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แล้ว ผู้ประกอบการเองก็ควรมี “สปิริท” ลุกขึ้นมาให้ “โบนัส” กับผู้บริโภคบ้างเช่นกัน
รวมถึง ผู้ประกอบการเองไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการผลักภาระ “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการอยู่แล้วให้ผู้บริโภคต้องแบกรับ และหากส่งภาระนี้ให้ผู้บริโภคแบกรับไปแล้ว ก็ควรเร่งประสานงานเรื่องการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะให้ผู้บริโภคด้วย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 22-06-52
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
22 มิถุนายน 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น