ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
9 มิถุนายน 2552

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เดินทางชี้แจง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคอีสาน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก่อนนำร่าง เข้าสู่สภา-ครม.อีกไม่เกิน 2 สัปดาห์

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังการเปิดอบรมเรื่อง "การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างมาใช้" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จ.ขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 8-13 มิ.ย.เพื่อชี้แจงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคอีสาน รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ที่จะผลักดันเข้าสู่ ครม.และสภา ในอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้

โดยได้กล่าวถึงที่มาและความเป็นของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างรายได้ของท้องถิ่นในปัจจุบันถูกบิดเบือนและล้าสมัย โดยพบว่ารายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ สามารถจัดเก็บได้ไม่ถึง 10% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรร เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนา อย่างเช่น นิวซีแลนด์ และประเทศกำลังพัฒนา เช่น มาเลเซีย กลับพบว่าท้องถิ่นของประเทศดังกล่าวสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 80-90% ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นในไทยผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ไทยไม่มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินที่ทั่วโลกบังคับใช้ นั่นคือ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

"ระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยยังถือว่ามีจุดอ่อนอยู่พอสมควร ทั้งๆ เรามีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น แต่การจัดเก็บภาษีที่ยังล้าหลังและถือว่าเป็นข้อบกพร่อง คือการจัดเก็บภาษีชั้น 2 นั่นคือ ภาษีมั่งคั่ง หรือภาษีมรดก แต่ในเบื้องต้นภาษีที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดในช่วงนี้ ก็คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"

นายสมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างตามร่าง พ.ร.บ.ฯ คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือครอบครองที่ดินจะต้องเสียภาษีเหมือนกันทั้งหมด โดยการจัดเก็บภาษีแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ กำหนดอัตราเพดานสูงสุดไม่เกิน 0.5% ตัวอย่างเช่น หากราคาประเมินที่ดิน 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษีปีละ 5,000 บาท 2.ที่อยู่อาศัย จัดเก็บไม่เกิน 0.1% ของราคาประเมิน และ 3 ที่ดินประเภทเกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.05% แต่สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเภทแรก แต่ไม่เกินเพดานที่กำหนด แต่ถ้าหากภายใน 3 ปี เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าตรงนี้ ก็ต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของราคาประเมิน

ผอ.สศค.ยังระบุว่าอีกว่า ภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะมีการผลักดันเข้าสู่ ครม.และสภาฯ คาดว่าน่าจะไม่เกิน 2 สัปดาห์ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภา และคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งหากกฎหมายฉบับบังคับใช้ จะยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องถิ่น โดยเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างแทน ซึ่งประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ การกระจายอำนาจทางการคลังมายังท้องถิ่น และท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น ทั้งด้านระบบสาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าหากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเป็น 4-8 หมื่นล้านบาทปี จากเดิมที่ในปัจจุบันมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือน บำรุงท้องที่ และภาษีที่ดินเพียงปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 09-06-52

0 ความคิดเห็น: