กลุ่มทุน-เจ้าของที่ดินเกาะภูเก็ต สมุย พะงัน เฮลั่น กรมที่ดินรื้อใหญ่กฎกระทรวงฉบับที่ 43 ไฟเขียวให้ออกโฉนดได้ หลังถูกล็อกตั้งแต่ปี 2537 หากไม่มี สค. น.ส.3 มาแสดงหมดสิทธิ์ออกโฉนด ส่งผลให้ กว่า 10 ปี สูญรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอน /จำนอง/ ภาษีเฉพาะมหาศาลโดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ทั้งที่ราคาที่ดินแพง ลิบ
สืบเนื่องจากกรมที่ดิน ได้หวั่นวิตกว่าจะมีกลุ่มนายทุนเข้ายึดครองทำประโยชน์บนที่ดินตามเกาะแก่ง ต่างๆ และก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพยากรทางธรรมชาติ ส่งผลให้ ต้องออกมาตรการควบคุม ด้วยการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ห้ามออกเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนดบนที่เกาะ แต่ข้อกฎหมายกลับผูกมัดให้ เกาะใหญ่ๆที่เป็นที่ตั้งของจังหวัดและ อำเภอ ต้องอยู่ในข่ายห้ามออกเอกสารสิทธิ์ไปด้วยนั้น
ล่าสุด นายประทีป เจริญพร รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้กรมอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับ ที่ 43 กรณีห้ามออกเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนดที่ดินบนที่เกาะ พ.ศ.2537 ทั้งนี้เพื่อผ่อนปรนให้เจ้าของที่ดินสามารถ นำหลักฐานการถือครองที่ดินมาแสดงเพื่อขอออกโฉนดที่ดินได้หากพิสูจน์ได้ว่า ได้ มีการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ มาก่อนปี 2497 หรือ ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 บังคับใช้
จาก ปัจจุบัน กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดว่ากรณี เจ้าของที่ดินจะออกเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนด จะต้องมีหลักฐาน ซึ่งประกอบด้วย แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(สค.1 ) หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.3) มาแสดงต่อเจ้าพนักงาน เท่านั้น ในขณะที่ พื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ กรมที่ดินสามารถ เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ได้ แม้จะไม่มีหลักฐาน สค.1 และน.ส.3 มาแสดงก็ตาม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และรอนสิทธิ์ กับเจ้าของที่ดินที่อยู่อาศัยบนเกาะ
โดยเฉพาะ เกาะใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของ อำเภอ จังหวัด ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆซึ่งประกอบด้วยจังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะยาว จังหวัดพังงา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เกาะช้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำควรได้รับการยกเว้น เพราะไม่ใช่เกาะแก่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา กว่า 10 ปีที่กฎกระทรวงฉบับที่ 43 บังคับใช้ ยังมีผลต่อรายได้ที่จัดเก็บเข้ารัฐ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตลอดจนภาษีต่างๆ ที่ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ ทั้งที่เป็น หัวเมืองท่องเที่ยวที่มีราคาที่ดินแพง ไร่ละ ไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านขึ้นไป โดยเฉพาะที่ดินบนเชิงเขา และริมทะเล
ส่วนกรณีที่เกรงว่าจะพิสูจน์ว่า เจ้าของที่ดินครอบครองมาก่อนปี 2497 หรือ ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ นั้นแหล่งข่าวกล่าวว่า พิสูจน์จากการทำการเกษตร และอยู่อาศัยตกทอดกันมายาวนานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นบรรพบุรุษ และต่อมาตกทอดถึงรุ่นหลาน โดยเฉพาะ ที่พิสูจน์ง่ายที่สุดคือ ต้นมะพร้าว ที่มีลำต้นสูง แข็งแรง รากมีขนาดใหญ่และหยั่งลึกลงดิน หาก มีอายุ 40-50 ปี ขึ้นไปถือว่า ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนปี 2497 จริง อีกมาตรการหนึ่งที่ใช้พิสูจน์คือ การสอบถามพยานแวดล้อม ได้แก่ ชาวบ้านข้างเคียง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่สามารถระบุชัดว่า บุคคลดังกล่าวเข้าทำประโยชน์ในแปลงที่ดินก่อน ปี 2497
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าหากมีการเปิดช่องให้ออกโฉนดบทที่เกาะได้ โดยเฉพาะ หัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ จะส่งเสริมให้นายทุน ตลอดจนนักการเมืองท้องถิ่นเข้ากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูก เพื่อนำไปขอออกโฉนด ซึ่ง เรื่องนี้ จะต้องเป็นการตกลงยินยอมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย
ด้านนาย ไพฑูรย์ เลิศไกร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทราบว่ามีการทบทวนแก้ไข กฎกระทรวงดังกล่าว และมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะภูเก็ตถูกรอนสิทธิ์มานาน และมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้เข้าคลังและท้องถิ่น โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง ภาษีธุรกิจเพราะถ้าที่ดินเหล่านั้นสามารถนำมาออกโฉนดได้ จะมีผลดีทั้งเจ้าของที่ดิน และรัฐ ตลอดจนท้องถิ่น หากไม่จำกัดให้ออกโฉนดได้เฉพาะ กรณีที่มี สค.1 และน.ส.3เท่านั้น
ทั้งนี้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีจำนวน 500กว่าตร.กม. มีพื้นที่ที่ถูกจำกัดโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ที่ ไม่มีหลักฐาน สค.1 น.ส.3 จำนวน นับแสนไร่ ส่วนสค.1 ขณะนี้เหลืออยู่บนเกาะจำนวน 4,000 กว่าแปลง เฉลี่ย แปลงละ 5-10 ไร่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2434 11 มิ.ย. - 13 มิ.ย. 2552
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
Home
»
ข่าวที่ดิน
» ปลดล็อกออกโฉนดบนที่เกาะ ภูเก็ต-สมุยเฮลั่น /ที่ดินไฟเขียวหากทำประโยชน์ก่อนพ.ศ.2497
12 มิถุนายน 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น