ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
30 มิถุนายน 2552

กระแสเรื่องบ้านบีโอไอกลับ มาคึกคักอีกรอบ เนื่องจากคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขและราคาจำหน่ายในกิจการที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางหรือ “บ้านบีโอไอ” จากราคา 6 แสนบาท เป็นราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท โดยผู้ที่พัฒนาบ้านระดับราคาดังกล่าวตามเงื่อนไข จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

บ้านเพื่อผู้มีรายได้ในแบบ “บ้านบีโอไอ” แตกต่างจากบ้านเอื้ออาทร ตรงที่ บ้านบีโอไอ เป็นบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อยที่เอกชนเป็นผู้พัฒนา โดยใช้แรงจูงใจเรื่องการ “ลดภาษี” ดึงเอกชนให้ร่วมกันพัฒนาบ้านบีโอไอ ผู้ประกอบการที่พัฒนาที่อยู่อาศัยตามเกณฑ์ของบีโอไอ จะได้รับการยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคล ซึ่งคิดในอัตรา 30% ของเงินได้เป็นเวลา 5 ปี ทำให้ต้นทุนของบ้านบีโอไอจะลดลงได้ ตั้งแต่ 5 หมื่น-1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับประเภทของที่อยู่อาศัย

ย้อนตำนาน “บ้านบีโอไอ”

จุดเริ่มต้นของโครงการบ้านบีโอไอ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยมีเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ จะต้องจัดที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 150 หน่วย สำหรับในเขต 1 อันประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และไม่น้อยกว่า 75 หน่วย สำหรับในเขต 2 และเขต 3 รวมถึงกำหนดให้มีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 31 ตารางเมตร มีราคาจำหน่ายไม่เกินหน่วยละ 6 แสนบาท (รวมค่าที่ดิน) เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยอย่างที่กล่าวแล้วว่ารัฐใช้นโยบาย “ลดภาษี” เป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาบ้านบีโอไอ

เปิดเกณฑ์ “บ้านบีโอไอ” ราคาใหม่ 1.2 ล.

บีโอไอ “ไฟเขียว” ปรับเกณฑ์ดังกล่าวใหม่ จากบ้านบีโอไอ 6 แสนบาท ผู้พัฒนาจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ขยับเกณฑ์ใหม่ ดังนี้ กำหนดเงื่อนไขของผู้ประกอบการที่จะต้องจัดที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 50 หน่วยสำหรับทุกเขต โดยโครงการที่ตั้งในเขต 1 กรณีการก่อสร้างอาคารชุด จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร และจำหน่ายในราคาหน่วยละไม่เกิน 1 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) จากเดิมราคาไม่เกิน 6 แสนบาท พื้นที่ไม่น้อยกว่า 31 ตารางเมตร

กรณีการก่อสร้างบ้านแถว หรือบ้านเดี่ยวจะต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อย กว่า 70 ตารางเมตร และจำหน่ายในราคาหน่วยละไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน)

สำหรับโครงการที่ตั้งในเขต 2 และเขต 3 ยังคงเงื่อนไขเดิม คือ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 31 ตารางเมตร และจำหน่ายในราคาหน่วยละไม่เกิน 6 แสนบาท (รวมค่าที่ดิน)

บอร์ดบีโอไอ ให้เหตุผลในการปรับปรุงเกณฑ์เงื่อนไขครั้งนี้ว่า การดำเนินกิจการในพื้นที่เขต 1 มีต้นทุนหลัก จากที่ดินและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็น 70-80% ของต้นทุนการผลิต รวมถึงค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจริง จึงเห็นชอบในราคาจำหน่ายให้สอดรับกับสถานการณ์ได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านในเขตเมือง ช่วยลดภาระการเดินทาง ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ในส่วนที่อยู่อาศัยในเขต 2 และ 3 เห็นว่า ยังไม่จำเป็นต้องปรับราคาเพราะค่าที่ดินยังปรับสูงขึ้นน้อยกว่า เขต 1 และยังมีโครงการที่จำหน่ายบ้านในราคาไม่เกินหกแสนบาทได้

เมื่อมีการประกาศเกณฑ์ใหม่ของ “บ้านบีโอไอ” แล้ว บรรดาผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่เคยทำบ้านบีโอไอมาก่อนด้วย เพราะราคาใหม่ของบ้านบีโอไอที่ไม่เกิน 1.2 ล้านบาทเริ่มมีความเป็นไปได้ในการพัฒนามากกว่าบ้านบีโอไอ ราคาเดิมที่ 6 แสนบาท ผสมกับแรงจูงใจที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี หักลบต้นทุน บวกกำไรแล้ว ก็เริ่มน่าสนใจขึ้น

มองๆ แล้วนโยบายปรับเกณฑ์ “บ้านบีโอไอ” จาก 6 แสนบาทต่อหน่วย เป็น 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย จะเป็น “ยาดี” ให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ บางรายได้มากกว่ามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีธุรกิจเฉพาะเสียอีก ด้วยเพราะมาตรการบ้านบีโอไอเป็น เกณฑ์ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนมาตรการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่ 28 มีนาคม 2553

อ่านต่อ คนซื้อได้อะไร? กับ เกณฑ์ใหม่ บ้านบีโอไอ 1.2 ล. (ตอนที่ 2)

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29-06-52

0 ความคิดเห็น: