ต่อจาก คนซื้อได้อะไร? กับ เกณฑ์ใหม่ บ้านบีโอไอ 1.2 ล. (ตอนที่ 1)
ผู้ประกอบการได้อะไร? กับบ้านบีโอไอ
นโยบายการปรับเกณฑ์บ้านบีโอไอ หากมองโดยผิวเผินแล้ว แทบมองไม่เห็นเลยว่า แล้วผู้บริโภค คนซื้อบ้านทั่วไปจะได้รับประโยชน์อย่างไร? เมื่อผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ “เห็นชัด” มากกว่า
ในประเด็นนี้ หากมองอย่างเป็นกลางแล้ว คงต้องย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ของ “บีโอไอ” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพื่อสร้างพลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนได้ คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดภาษีในส่วนต่างๆ หากผู้ประกอบการมองว่าสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ดีจริง ย่อมสนใจที่จะทำตามเกณฑ์
ขณะที่วัตถุประสงค์ของ “บ้านบีโอไอ” นอกจากบีโอไอจะต้องการให้เกิดการลงทุนแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาบ้านราคาถูก เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมา การทำบ้าน 6 แสนบาทต่อหน่วย อาจเหมาะสมในยุคที่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างยังไม่สูงนัก แต่มาวันนี้ แม้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่าไร ก็ไม่จูงใจนักหากให้ทำบ้าน 6 แสนบาทต่อหน่วย เอกชนจึงพยายามผลักดันให้บีโอไอขยายเพดานบ้านบีโอไอให้เหมาะสมกับสถานการณ์
บีโอไอ อาจมองว่า เมื่อให้ “โบนัส” เรื่องสิทธิทางภาษีกับผู้ประกอบการที่ทำตามเกณฑ์แล้ว ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น และผู้ประกอบการย่อมงัดทุกกลยุทธ์ในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะเป็น โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถมต่างๆ ก็เท่ากับว่า ผู้บริโภคได้รับโบนัสจากบีโอไอทางอ้อม
ผู้บริโภคได้อะไร? กับ บ้านบีโอไอ จาก 6 แสน สู่ 1.2 ล.
หลังจากมองในส่วนของผู้ประกอบการแล้ว และเห็นว่า ภาพค่อนข้างชัดเจนมากว่า ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากนโยบายขยายเพดานราคาบ้านบีโอไอ คำถามจึงกลับมาที่ “ผู้บริโภค” บ้างว่า แล้วผู้ซื้อบ้าน จะได้รับประโยชน์ใด? จากการปรับเกณฑ์บีโอไอในครั้งนี้
สิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการขยายเพดานราคาบ้านบีโอไออาจไม่ชัดเจนมากนัก เพราะมองอย่างไร ผู้ประกอบการก็มีแต่ “ได้” กับ “ได้”
จากประเด็นดังกล่าว นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ความคิดเห็นว่า สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับคือการมีทางเลือกในบ้านระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ หากไม่นับพฤกษาฯ แล้ว บ้านระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทในทำเลใกล้เมือง ใกล้ชุมชน แทบไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่สามารถพัฒนาได้ โครงการบ้านที่ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่ชัดเจน คงมีเพียง “บ้านเอื้ออาทร” โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ซึ่งทำเลของบ้านเอื้ออาทรอาจไม่ตรงกับความต้องการนัก
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการหลายรายมองว่าควรปรับเกณฑ์บ้านบีโอไอขึ้น จาก 6 แสนบาทต่อหน่วย เป็นอย่างน้อย 1 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เพราะเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ปรับมาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เอกชนสนใจที่จะพัฒนาบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย จึงควรปรับเกณฑ์
นอกจากนี้ นายประเสริฐ เชื่อว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รับโบนัสเป็นสิทธิพิเศษทางภาษีจากบ้านตามเกณฑ์บีโอไอ แล้ว จะนำเม็ดเงินที่ได้รับการลดหย่อนไปทำโปรโมชั่น คืนกำไรให้กับลูกค้า นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ผู้บริโภคจะได้รับจากนโยบายบ้านบีโอไอ
มาถึงเวลานี้แล้ว...บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยคงมีระดับราคาที่เปลี่ยนไป ตามเวลา และตามนโยบายของรัฐ ซึ่งทางฝั่งผู้บริโภคเอง แม้จะยังเห็นภาพไม่ชัดถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับเกณฑ์บ้านบีโอไอเป็น ระดับราคาใหม่ แต่เชื่อว่าต่างก็วาดหวังว่า ผู้ประกอบการจะ “คืนกำไร” ให้ผู้บริโภคตามที่สัญญาไว้ และสำคัญที่สุด คงอยู่ที่ “คุณภาพ” ของบ้านที่จะขายให้ผู้บริโภค ควรเป็น “บ้านคุณภาพ” อย่าให้เป็นเรื่อง “ของถูก ไม่มีในโลก” เพราะแม้จะมีกำลังซื้อเพียง “บ้านบีโอไอ” แต่ผู้ซื้อก็มีสิทธิที่จะหวังว่าจะได้ “บ้านคุณภาพ” ไม่แพ้คนที่มีกำลังซื้อมากกว่า
หากผู้ประกอบการสามารถส่งมอบ “บ้านคุณภาพ” ให้กับผู้บริโภคได้ภายใต้ราคาตามเกณฑ์บีโอไอ ก็ถือเป็น “โบนัส” ชั้นดีสำหรับผู้ซื้อบ้านแล้ว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29-06-52
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
30 มิถุนายน 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น