ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
30 ธันวาคม 2551

นับถอยหลังตลาด อสังหาริมทรัพย์ปี 2551 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่ตลาดที่อยู่อาศัยในบ้านเรามีความร้อนแรงทั้งแง่บวก และแง่ลบ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาท่านนั่งแมชชีนย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ว่า มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับแวดวงอสังหาฯ อย่างไรบ้าง

ได้รัฐบาลใหม่ที่เค้าว่าเป็น “นอมินี”

ใน ช่วงปลายปี 2550 การเมืองไทยได้ต้อนรับ “รัฐบาลชุดใหม่” ที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 บรรยากาศสุดแสนคึกคักในช่วงเวลานั้นที่นักลงทุนมองว่าฟ้าใหม่กำลังจะเปิด เมื่อมีรัฐบาลใหม่

แต่เพราะรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าเป็นเพียง “รัฐบาลนอมินี” ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แรงต่อต้านจึงเกิดขึ้นในสังคมอีกครั้ง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงจนกระทบต่ออารมณ์ในการซื้อขายที่อยู่อาศัยตลาดที่คาดว่าจะ “สดใส” จึงเริ่มส่อเค้าว่าจะ “ไม่สดใส” เอาเสียแล้ว

เฮ!! ได้มาตรการหั่นภาษี โกยกำไรเพียบ

แม้ว่าแรงต้านรัฐบาลนอมินีจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น แต่เพราะรัฐบาลสมัคร เร่งเอาใจนักลงทุนด้วยการประกาศ “ยืดระยะเวลา” มาตรการด้านภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก 1 ปี (เดิม สิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2552) พร้อมกับลด “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” จาก 3.3% เหลือ 0.01% ก็เหมือนการให้ของขวัญกับนักลงทุน ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ที่ได้กำไรกันไปถ้วนหน้า

เปรียบเหมือนโบนัสก้อนใหญ่ที่รัฐบาล ให้กับผู้ประกอบการ ที่ไม่ว่าผู้ประกอบการจะนำไปคืนกำไรต่อให้ผู้บริโภคหรือไม่ ก็ยังคงได้กำไรมหาศาลอยู่ดี โดยเห็นได้จากผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปี 2551 ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาศัยการชะลอการโอนจากไตรมาส 1 ออกไปเป็นไตรมาส 2 เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว งานนี้ หากเรียกว่า “ผู้ประกอบการ เฮ!!” มากกว่า “ผู้บริโภคเฮ!!” คงไม่ผิดนัก

กฎเหล็กสวล.ทำคนแหกคอกใช้ 39 ทวิ

อีกประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ในส่วนของกฎเหล็กการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการจัดสรรหรือที่รู้จัก กันเป็นอย่างดีในชื่อสั้นๆ ว่า “สวล.” โดยเฉพาะความเข้มในการพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาคอนโดมิเนียม ที่ส่งผลให้โครงการต่างๆ เกิดความล่าช้าในงานก่อสร้างเพราะติดอยู่ในขั้นตอนของสิ่งแวดล้อมนานเกิน ความคาดหมายแก้แล้ว แก้อีก ก็ยังไม่ตรงใจคณะกรรมการสวล. หรือบางแห่ง ถึงขั้นต้องยกเลิกโครงการ เพราะไม่ผ่านกฎหมายสวล. ขายไปแล้ว ต้องคืนเงินลูกค้า บางกรณี ถึงไม่ยกเลิกทั้งโครงการ แต่ห้องบางยูนิตหายไป ขายห้องนั้นไปแล้ว ก็ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ลูกค้าเหมือนกัน

แต่โครงการที่กลายเป็นเรื่องเป็นราว ใหญ่โตจากผลพวงของกฎเหล็ก สวล. คือ กลุ่มปริญสิริ และกลุ่มพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะในส่วนของ “คอนโด วัน” ของ “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” ที่ก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ แต่ผิดแบบ ถูกสั่งให้รื้อชั้น 9 ทิ้ง และไม่สามารถโอนทั้งตึกได้ในเวลากำหนดรวม 11 อาคาร ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ มีบริษัทแม่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาด “แสนสิริ” ไม่น่าพลาดกับเรื่องการก่อสร้างผิดแบบ

เหตุผลที่ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นผล พวงจากกฎเหล็กสิ่งแวดล้อม เพราะหากจะขอใบอนุญาตก่อสร้างสร้างกทม.ได้จะต้องผ่านเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อม ก่อน พลัสฯ เลยอาศัย “ทางลัด” เลี่ยงไปขอใช้ใบอนุญาต “39 ทวิ” ที่สามารถก่อสร้างได้ทันที ไม่ต้องรอใบอนุญาต เมื่อก่อสร้างเสร็จ เจ้าหน้าที่จึงจะเข้าตรวจสอบ ในระหว่างการก่อสร้างด้วยการใช้ใบอนุญาตแบบ 39 ทวิ เจ้าหน้าที่กทม.จะไม่รับตรวจสอบ ต้องรอให้อาคารแล้วเสร็จเท่านั้น

เมื่ออาคารคอนโด วันแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่กทม.ตรวจสอบแล้วจึงพบว่า อาคารมีความสูงเกินกว่า 23 เมตร เป็นการก่อสร้างที่ผิดแบบ ต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมายจึงจะอนุญาตให้เปิดใช้อาคารได้ พลัสฯ จึงต้องตัดสินใจรื้อชั้น 9 ส่วนที่เกินมาออกและคืนเงินให้ลูกค้าที่ซื้อห้องชุดในชั้นดังกล่าว รวมถึงลูกค้าที่ต้องการขอคืนห้อง เพราะไม่สามารถโอนห้องชุดได้ตามสัญญา

ความผิดพลาดครั้งนี้ พลัสฯ เสียเงินไปอีกกว่า 400 ล้านบาทในการปรับปรุงให้ถูกต้องและคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ลูกค้า แต่สิ่งที่เสียมากกว่าคงเป็นเรื่องของ “แบรนด์” ที่ต้องอาศัยเวลาเท่านั้นในการกู้คืนมา

ทุนตะวันออกกลาง มาแรงฉุดไม่อยู่

เป็นหนึ่งในทุนต่างชาติที่มาแรงมากกับ การเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ บ้านเรา โดยภาพความเคลื่อนไหวทางการลงทุนของกลุ่มทุน "ดูไบ" เริ่มตั้งเค้าตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา โดยปักธงรบในสนาม "เมืองท่องเที่ยว" ก่อนบุกเข้าตัวเมือง "กรุงเทพฯ" ในทุกรูปแบบ "เทคโอเวอร์" โปรเจคดี ทำเลดี "ร่วมทุน" กับเจ้าตลาดอสังหาฯ ไฮเอนด์ ซึ่งดูเหมือนเป็นแค่จุดสตาร์ทของกลุ่มทุนนี้เท่านั้น เพราะมีแนวโน้มว่า การขยายตัวคงไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่

อีกทั้ง การที่ "สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม" (Sultan Ahmed bin Sulayem) ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ดูไบ เวิลด์ ยอมรับคำเชิญของ จาก "มูลนิธิไทยคม" ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า มูลนิธินี้มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับตระกูลชินวัตรของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อมาเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Evolutionary Reform : The Dubai Experience” ในบ้านเรา ยังสะท้อนถึงนัยยะบางอย่าง ที่อาจตีความได้ว่า "ดูไบ" ให้ความสนใจประไทยไทยไม่น้อยทีเดียว จึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาที่สุลต่านเมืองน้ำมันก้าวเข้ามาเยือนไทย ได้กลายเป็น "นิวส์เมคเกอร์" ที่สร้างกระแสให้ถูกพูดถึงในทุกแวดวง เพราะเงินทุนจำนวนมหาศาลพร้อมที่จะเทได้ในทุกเซคเตอร์ โดยเฉพาะในเซคเตอร์ "อสังหาริมทรัพย์" ที่อาจถูกจับตาเป็นพิเศษ ด้วยทุนกลุ่มนี้ สนใจแปลง "เงินทุนน้ำมัน" ให้เป็น "อสังหาริมทรัพย์" ทั้งโครงการขนาดใหญ่ในประเทศ ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างโครงการ The Palm Islands ถมทะเลสร้างเกาะจำลองเป็นรูปต้นปาล์ม พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ต ระดับเวิลด์คลาส ที่มีด้วยกัน 3 โครงการ คือ The Palm Jumeirah, The Palm Jebel Ali และ The Palm Deira รวมถึงเป็นผู้พัฒนาโครงการเบิร์จดูไบ ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกที่ดูไบด้วย พูดได้สั้นว่า "มูลค่ามหาศาล" แค่เพียงโปรเจคเดียว ก็ใกล้เคียงกับงบประมาณพัฒนาต่อปีของหลายประเทศแล้ว

ขณะที่ความเคลื่อนไหวที่มีต่อภาคอสัง หาฯ ไทยในช่วงก่อนหน้านี้ก็ส่งสัญญาณชัด กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐ "อิสธิมาร์" (Istithmar) ที่สุลต่านดูไบรายนี้เป็นผู้ก่อตั้ง ได้เข้ามาลงทุนในบ้านเรา โดยร่วมทุนกับกลุ่มไรมอนแลนด์ และกลุ่มโกลเด้นแลนด์ หรือแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ที่พัฒนาโครงการในระดับไฮเอนด์ ย่านสีลม สาทร สุขุมวิท รวมถึง โรงแรมและรีสอร์ตในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและสมุย ภายใต้แบรนด์ "ดับเบิ้ลยู" ด้วยหลายฝ่ายจึงจับตามองว่า การเข้ามาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ อาจมีนัยยะที่มากกว่าการมา "องค์ปาฐกถาพิเศษ" เท่านั้น โดยเฉพาะความสนใจในเรื่องที่ดินเกษตร

วัสดุก่อสร้าง-น้ำมันผันผวนสุดขีด

หากพูดถึงภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้ พลาดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึงเรื่องต้นทุนก่อสร้างที่ผันผวนอย่างรุนแรง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาวัสดุก่อสร้างเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะเหล็ก และราคาน้ำมัน ปรับตัวสูงจนผู้ประกอบการรับไม่ไหวต้องประกาศ “ขึ้นราคาบ้าน” กันยกตลาด เร่งออกแคมเปญ “บ้านต้นทุนเดิม” เพื่อดึงลูกค้า โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญหน้ากับราคาเหล็กสูงขึ้นจาก 25 บาทต่อกิโลกรัมไปแตะ 45 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันจาก 40 -50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทะยานไปถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แต่เพราะราคาที่ปรับสูงขึ้นไปมีนัยยะ ของการ “ปั่นราคา” ด้วยการ “เก็งกำไร” ในตลาดทำให้เมื่อเกิดวิกฤติในระดับโลก ดีมานด์ที่แท้จริงปรากฏ ราคาที่เคยพุ่งกระฉูดก็เริ่มชะลอตัวลงเกือบเท่าตัว เป็นความผันผวนที่สร้างผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ อย่างรุนแรง เพราะในช่วงที่ราคาวัสดุก่อสร้าง-น้ำมันขึ้นราคา ผู้ประกอบการได้ล็อคราคาช่วง “วัสดุแพง” ไว้ บ้าน-คอนโดฯ ที่ออกมา จึงเป็นล็อต “ของแพง” พอราคาวัสดุก่อสร้าง-น้ำมันลดฮวบพร้อมกับกำลังซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ของแพงที่ออกมาขาย ณ เวลานี้จึงขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของตลาดมากนัก

ความผันผวนที่เกิดขึ้นจึงส่งแรง เหวี่ยงให้บรรดาผู้ประกอบการต้องเร่งหาทาง “ระบายของแพง” ออกจากสต๊อกให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งช้า ยิ่งขาดทุน คนในวงการจึงคาดการณ์กันว่า แม้ว่าผู้ประกอบการจะไม่ออกมาลดราคาขายแบบตรงๆ แต่คงได้เห็นการอัดแคมเปญ “แจกแถม” กระหน่ำในปี 2552 ซึ่งว่ากันว่าผู้บริโภคมีโอกาสได้ช้อป “ของถูก” อีกครั้งแน่

แฮมเบอร์เกอร์ทำพิษทั่วโลก

แรงสั่นสะเทือนจากการล้มของยักษ์ใหญ่ ทางด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา “เลห์แมน” ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก และเริ่มเห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ตลาดในไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกรอบ เพราะใครเลยจะคิดว่า ยักษ์ใหญ่วานิชธนกิจอย่างเลห์แมนจะพังได้ และการที่เลห์แมน “ล้ม” ก็ส่งผลให้ตลาดทุนตลาดเงินทั่วโลกปั่นป่วน รวมถึงตลาดอสังหาฯ ไทยที่กลุ่มเลห์แมนเคยเข้ามาร่วมทุนด้วย หรือแม้แต่บริษัทที่มีกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมก็ต้องสั่นคลอนด้วย พิษ “แฮมเบอร์เกอร์ไคร์ซิส” ที่ล่ามไปทั่วโลก เป็นปรากฏการณ์ “โดมิโน” ทางเศรษฐกิจล้มตัวไปตามกัน

วิกฤตินี้ บริษัทอสังหาฯ ของไทยที่มีทุนแฮมเบอร์เกอร์ร่วมด้วย จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น อนันดา ดิเวลลอปเม้นท์, กลุ่มไรมอนแลนด์, กลุ่มแกรนด์ แอสเสท โฮเทล แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้, กลุ่มเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นต้น

แบงก์เข้ม กู้ไม่ผ่าน โอนไม่ได้

ประเด็นร้อนที่ไม่ควรพลาด...กับเรื่อง การอนุมัติสินเชื่อกู้บ้านที่เข้มขึ้นของแบงก์ต่างๆ บวกกับเปิดปัญหาที่ทำให้ “กู้ไม่ผ่าน” และแนวทางแก้ไขที่ผู้ประกอบการต้องร่วมมือช่วยผู้ซื้อ พร้อมเผยเกณฑ์ใหม่แบงก์ดู “ความมั่นคงของรายได้ในอนาคต” อุปสรรค์เบรกสินเชื่อบ้านทั้งในปีนี้และปีหน้า

เรื่องความเข้มงวดในการปล่อยกู้สิน เชื่อที่อยู่อาศัยให้กับ “คนซื้อบ้าน” ของบรรดาสถาบันการเงินเป็นประเด็นร้อนแรงมาตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา พูดถึงกันหนาหูว่า “แบงก์เข้มมาก มียอดรีเจคเพิ่มขึ้นทุกวัน” บางโครงการมีสูงถึง 25% และคาดว่าจนถึงปีนี้ความเข้มในการสกรีนลูกค้ายังไม่ผ่อนคลายลง อีกทั้ง ยังดูเหมือนจะเพิ่มดีกรีของความเข้มมากขึ้นไปอีก จึงคาดว่าปีหน้าลูกค้าที่จะขอกู้ซื้อบ้านคงต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากใน ทุกขั้นตอน

ด้านผู้ประกอบการเองก็ต้องสกรีน ประวัติทางการเงินของลูกค้าอย่างเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน เพราะหากเน้นการขายจองเพียงอย่างเดียว ไม่เช็คข้อมูลด้านการเงินของลูกค้าให้ดีแล้ว โอกาสที่จะถูกแบงก์ “รีเจค” ต้องนำบ้านมาขายรอบใหม่ย่อมมีสูงขึ้น ได้แต่ยอดมานอนรอ แต่โอนไม่ได้ เพราะลูกค้ากู้ไม่ผ่าน คิดแล้ว ขายอย่างเดียวไม่เช็คเครดิต “ไม่คุ้ม”

คาดตัวเลขรวมบ้านร่วง 20%

ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้มีการคาดการณ์ว่าที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกทม.และปริมณฑลในปี 2551 น่าจะอยู่ที่ 56,690 หน่วย ในขณะตัวเลขที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกทม.และปริมณฑลปีก่อนอยู่ที่ 74,221 หน่วยลดลงกว่า 20% โดยมีสัดส่วนบ้านเดี่ยวร้อยละ 47.7 ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ร้อยละ 17.6 และอาคารชุดมีสัดส่วนร้อยละ 34.7 ส่วนจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกทม.และปริมณฑลประมาณการว่าจะอยู่ที่ 66,783 หน่วย เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 81,384 ลดลง 18%

ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไป คงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 3/2551 อยู่ที่ 1,551,305 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9% จากปีก่อน 1,479,903 ล้านบาท สำหรับมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศทั้งปีของ ธอส.ประมาณการว่าจะอยู่ที่ 73,500 ล้านบาทหดตัวลง 8% จากปีก่อนที่ปล่อยไป 80,000 หน่วย

ที่ดินที่สุดแห่งปี “เพลินจิต อาเขต” ตร.วาละ 1.2 ล.

เมื่อประมาณปี 2549 ข่าวที่สร้างความหวือหวาให้กับคนในวงการพัฒนาที่ดินคงหนีไม่พ้นการประมูล ซื้อที่ดินเกือบ 9 ไร่ ของเขตสถานทูต อังกฤษ โดยมีบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย ) จำกัด เป็นตัวแทนดำเนินการขาย และมีกลุ่มเซ็นทรัลยื่นซองประมูลในนามบริษัทเตียง จิราธิวัฒน์ จำกัด ในราคายื่นประมูลสูงสุดด้วย 9.5 แสนบาทต่อตารางวาหรือ 405 ล้านบาทต่อ 1 ไร่ กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ที่พูดกันว่าเป็น “ดิวประวัติศาสตร์” ตารางวาละเกือบ 1 ล้านบาท

แต่ช่วงปลายปีนี้ที่ดิน “เพลินจิต อาเขต” ประมาณ 7 ไร่ครึ่งบริเวณใกล้เคียงกันได้ทุบสถิติเก่าของตลาด และสร้างสถิติใหม่ด้วยราคา 1.2 ล้านบาทต่อตารางวาแล้ว โดยเป็นการซื้อขายกันระหว่าง “ตัน ภาสกรนที” อดีตเจ้าของแบรนด์ “โออิชิ” และ “กลุ่มไรมอนแลนด์” ที่ควงแขนทุนดูไบ” มาซื้อเพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมหรู ราคาขายไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อตารางเมตร และเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ รวมมูลค่าโครงการราว 1.7 หมื่นล้านบาทในนาม “บริษัท เพลินจิต เรสซิเด้นท์ จำกัด” ซึ่งจะมีนายตันเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย 20%

ข่าวดีส่งท้ายปีกับ 2 มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

ก่อนกล่าวอำลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่รัฐบาลยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลมาร์ค 1 ต่างเอาใจภาคประชาชนและผู้ประกอบการซื้อบ้านขายบ้าน ด้วย 2 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

โดยเริ่มจากมาตรการแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (เชียงใหม่) ยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ 3 พรรคการเมือง มีความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 28 มีนาคม 2552 ออกไปอีก 1 ปีเป็นวันที่ 28 มีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย การลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.11% ลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01%

พอมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง รัฐบาลมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาแทนที่ ก็ตามติดมาด้วยนโยบายจากกระทรวงการคลัง ที่เตรียมออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ผู้กู้ซื้อบ้านในปี 2552 สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาเพิ่มขึ้น จากเดิมไม่เกิน 1 แสนบาท เพิ่มเป็นมากกว่า 2 แสนบาทต่อปีขึ้นไป เพื่อให้ผู้ซื้อบ้านใหม่ราคาไม่เกิน 7-8 ล้านบาทได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้

แม้มาตรการที่ 2 จะยังไม่คลอดออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือว่าเป็น “ข่าวดี” ที่ได้รับหลังจากที่ตลาดอสังหาฯ ต้องเผชิญหน้ากับม่านหมอกของ “ข่าวร้าย” มานาน

หมุนแผ่นฟิล์มย้อนหลังกลับไป แล้ว ปี 2551 นี้ก็มีทั้งเรื่องดีดี และข่าวร้ายๆ ผสมปนเปกันไป แม้ว่าข่าวร้ายหนักๆ จะรุนแรงกว่าข่าวดีที่คืนกลับมา แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีข่าวดีให้ได้ชื่นใจเสียเลย เรียกว่าเป็น “ปีชวด” ที่ยัง “ไม่ชวด” ไปหมดทุกอย่าง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์ (sukanya_sin@nationgroup.com)

0 ความคิดเห็น: