การจดทะเบียนผู้ปกครองทรัพย์
ความหมาย
ผู้ปกครองทรัพย์คือกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมจะประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือแก่ผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดาผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทำพินัยกรรมจึงตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น
กฎหมายและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ ลักษณะ ๓ หมวด ๔ เกี่ยวด้วยมรดกและพินัยกรรม ตั้งแต่มาตรา ๑๖๘๗ ถึง ๑๖๙๒ รวม ๖ มาตรา ซึ่งตามมาตรา ๑๖๘๘ ได้บัญญัติไว้ว่า การตั้งผู้ปกครองทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิใดๆ อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
- คำสั่งกรมที่ดินที่ ๖/๒๕๐๒ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๒
สาระสำคัญ
- การตั้งผู้ปกครองทรัพย์จะกระทำได้ต่อเมื่อ
(๑) ผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถคนวิกลจริตซึ่งไม่อาจจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ ต้องให้บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ให้ความยินยอมหรือกระทำการแทน
(๒) ผู้ทำพินัยกรรมต้องการให้บุคคลอื่นที่มิใช่บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์เป็น ผู้จัดการทรัพย์สินแทนผู้มีอำนาจจัดการแทนตามกฎหมาย เพราะถ้าเพียงแต่ผู้ทำพินัยกรรมเจตนายกทรัพย์สินให้แก่บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีข้อห้ามแล้ว ผู้ที่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทนผู้รับพินัยกรรม ก็มีอำนาจจัดการตามกฎหมาย และจะตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้นมาเพื่อแย่งอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นหาได้ไม่
- ผู้ปกครองทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพินัยกรรมให้เป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทนบุคคลอื่น ต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นการตั้งผู้ปกครองทรัพย์ย่อมไม่บริบูรณ์ ใช้ยันบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๘๘)
- ผู้ปกครองทรัพย์อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๘๙) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และต้องเป็นบุคคลที่ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๘๗ และอาจเป็นนิติบุคคลก็ได้ แต่ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้ให้มีอำนาจเช่นนั้น ก็ไม่มีอำนาจจัดการ ทรัพย์สินได้
- ผู้ปกครองทรัพย์ย่อมตั้งขึ้นได้โดย
(๑) ผู้ทำพินัยกรรม กำหนดตัวผู้ปกครองทรัพย์ไว้ในพินัยกรรม
(๒) บุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง (ผู้มีชื่อในพินัยกรรมเป็นผู้ตั้ง) (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๐)
- ผู้ปกครองทรัพย์ตายก่อน กำหนดแห่งการเป็นผู้เยาว์ หรือกำหนดที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกำหนดที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจะล่วงพ้นไป และผู้ทำพินัยกรรมไม่กำหนดห้ามผู้ปกครองทรัพย์ตั้งบุคคลอื่นไว้ในพินัยกรรมผู้ปกครองทรัพย์จึงมีสิทธิทำพินัยกรรมตั้งบุคคลอื่นที่ตนวางใจให้เป็นผู้ปกครองทรัพย์สืบแทนตนได้ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๑)
- สิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองทรัพย์ ถ้าพินัยกรรมมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ปกครองทรัพย์คงมีหน้าที่เช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครอง
- การเลิกผู้ปกครองทรัพย์
(๑) กำหนดแห่งการเป็นผู้เยาว์ หรือกำหนดที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกำหนดที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้วแต่กรณี ได้ล่วงพ้นไปแล้ว
(๒) ผู้ปกครองทรัพย์ตาย ไร้ความสามารถ ลาออก หรือถูกถอนโดยคำสั่งศาล
คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๘๐/๒๔๙๖ การตั้งผู้ปกครองทรัพย์โดยพินัยกรรม จะตั้งได้ไม่เกินเวลาที่ผู้รับทรัพย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ผู้รับเป็นผู้เยาว์)
๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๐/๒๕๐๘ เจ้ามรดกซึ่งเป็นตาทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้หลานซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยตั้งผู้ปกครองทรัพย์ด้วยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ก็นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ไม่ต้องให้เจ้ามรดกเป็นผู้จดทะเบียนเสมอไป
ในระหว่างที่ผู้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ กำลังดำเนินการขอจดทะเบียนการตั้งผู้ปกครองทรัพย์เพื่อให้บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๘๘ อยู่นั้น บิดาของผู้เยาว์จะถือโอกาสแย่งการเป็นผู้ปกครองทรัพย์ไปจากผู้รับแต่งตั้งในระหว่างกำลังดำเนินการเพื่อให้บริบูรณ์อยู่นี้หาได้ไม่
๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๖๔/๒๕๒๙ ง. ตาโจทก์ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ โดยให้มีผลเมื่อ น.ภริยา ง. ถึงแก่กรรม ระหว่างโจทก์เป็นผู้เยาว์ให้จำเลยเก็บผลประโยชน์จากที่พิพาทเป็นค่าใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์สละสิทธิในที่พิพาทให้จำเลย โดยจำเลยมอบเงินตอบแทนให้โจทก์ไปอีกจำนวนหนึ่ง แล้วสามีจำเลยนำที่พิพาทออกไป น.ส. ๓ ก. เมื่อ น. ถึงแก่กรรม พ.ศ.๒๕๒๔ จำเลยก็ได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเองนับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่พิพาทจึงตกเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่พิพาทและเงินผลประโยชน์อันเกิดจากที่พิพาทจากจำเลยได้
ค่าธรรมเนียม
ในการจดทะเบียนผู้ปกครองทรัพย์และเลิกผู้ปกครองทรัพย์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมประเภทไม่มีทุนทรัพย์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗) (ฑ)
ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์
ไม่มีกรณีที่ต้องเสีย
ที่มา : กรมที่ดิน
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
Home
»
»Unlabelled
» การจดทะเบียนผู้ปกครองทรัพย์
8 พฤศจิกายน 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น