การจดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
ความหมาย
การจดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส คือ การที่สามีและภริยา หย่าขาดจากกัน และได้
ตกลงแบ่งหรือโอนทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสให้แก่กัน ซึ่งจะเป็นการตกลงแบ่งสินสมรส แต่ละสิ่งให้แต่ละฝ่ายเท่า ๆ กัน ทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง ก็ทำได้ หรืออาจตกลงแบ่งสินสมรส สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งทั้งหมด หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งแห่งราคาของสินสมรสนั้นก็ทำได้
สาระสำคัญ
- ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแบ่งประเภททรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไว้ตามมาตรา ๑๔๗๐ ว่า “ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส” กฎหมายดังกล่าวได้แยกทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็น ๒ ประเภท คือ
ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะเรียกว่า “สินส่วนตัว”
และทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างคู่สมรสทั้งสองฝ่ายเรียกว่า “สินสมรส”
๑. สินส่วนตัว
มาตรา ๑๔๗๑ “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(๑) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(๒) ที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(๓) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(๔) ที่เป็นของหมั้น”
มาตรา ๑๔๗๒ “สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทนทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว”
๒. สินสมรส
มาตรา ๑๔๗๔ “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(๑) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(๒) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(๓) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
เป็น ”สินสมรส”
มาตรา ๑๕๓๓ “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน”
หลักเกณฑ์การสอบสวน
- เมื่อมีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสตามนัยมาตรา ๑๕๓๓ แห่ง ป.พ.พ.
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและเรียกหลักฐาน ดังนี้
(๑) เมื่อสามีภรรยาหย่าขาดจากกัน และประสงค์จะแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสเกี่ยวกับที่ดิน โดยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่กันและกันแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกหลักฐานการหย่าขาดจากสามีภรรยา เช่น คำพิพากษาหรือหนังสือหย่าระหว่างกันมาตรวจสอบ ถ้าในกรณีที่จะต้องจดทะเบียนหย่า ให้เรียกหลักฐานการจดทะเบียนหย่ามาแสดงด้วย
(๒) เมื่อเห็นว่ามีการหย่าขาดจากกันถูกต้องแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนในประเภท “แบ่งทรัพย์สินระหว่างสมรส” โดยให้คู่สมรสยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และแก้ทะเบียนตามตัวอย่างท้ายคำสั่งนี้
วิธีดำเนินการ
การจัดทำคำขอฯ (ท.ด. ๑) คำขอ (ท.ด. ๙) เป็นไปตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๖/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๙๘ เรื่อง จดทะเบียนประเภทแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
มาตรา ๑๕๓๓ แห่ง ป.พ.พ. บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้สัดส่วนเท่ากัน มิได้ระบุว่าจะต้องแบ่งสินสมรสให้แต่ละฝ่ายได้เท่า ๆ กัน ทุกสิ่งทุกอย่าง คู่สมรสจึงอาจตกลงแบ่งสินสมรส สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่อีกฝ่ายหนึ่งทั้งหมด หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งแห่งราคาของสินสมรสนั้นได้ หากทรัพย์สินนั้นได้ตกลงกันไว้ในเวลาจดทะเบียนหย่า ข้อตกลงนั้นย่อมจะมีผลบังคับผูกพันให้เป็นไปตามข้อตกลงได้ และกรณีเช่นนี้ส่วนที่เกินครึ่งก็มิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา (เทียบฎีกาที่ ๑๔๐๖/๒๕๑๗)
พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่จำต้องพิจารณาว่าส่วนแบ่งตามที่ตกลงกันนั้น จะเท่ากันหรือไม่ ก็ย่อมจดทะเบียน
ประเภทแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสได้
(หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/๒๖๗๖๑ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ตอบข้อหารือจังหวัดชลบุรี เรื่อง หารือการจดทะเบียนที่ดิน เวียนตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/ว ๓๗๐๐๖ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗)
ค่าธรรมเนียม
การจดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส เป็นการจดทะเบียนประเภทไม่มีทุนทรัพย์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแปลงละ ๕๐ บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗)(ฑ) ทั้งนี้ไม่ว่าที่ดินแปลงที่จดทะเบียนคู่กรณีจะได้ตกลงให้แก่กันเกินครึ่งแปลงนั้น ๆ หรือไม่ เช่น โฉนดที่ดินที่มีชื่อสามีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์คู่กรณีได้จดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสให้แก่ภริยาไปทั้งแปลงเช่นนี้ ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแปลงละ ๕๐ บาท (หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/๒๖๗๖๑ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ตอบข้อหารือจังหวัดชลบุรี เวียนโดยหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/ว ๒๗๐๐๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗)
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
การแบ่งสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาของแต่ละฝ่ายเท่ากันไม่ถือเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ถ้าในการแบ่งสินสมรสฝ่ายใดได้ไปเกินกว่าส่วนของตนตามกฎหมายต้องถือว่าฝ่ายที่ยอมให้ส่วนของตนเกินไปให้กับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นผู้ให้ ซึ่งถือว่าเป็นการ “ขาย” จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้โดยการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งคำนวณจากราคาอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะส่วนที่เกินไปนั้น (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค ๐๘๐๒/๒๒๒๙๗ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๕ ซึ่งกรมสรรพากรได้เวียนให้ทุกจังหวัดทราบ ตามหนังสือกรมสรรพากร ที่ กค ๐๘๐๒/๖๓๗ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๖ , คำสั่งกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/๒๖๗๖๑ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ตอบข้อหารือจังหวัดชลบุรี เวียนโดยหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/ว ๒๗๐๐๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗)
อากรแสตมป์
การจดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ไม่มีกรณีที่จะต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
ที่มา : กรมที่ดิน
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
Home
»
»Unlabelled
» การจดทะเบียนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
7 พฤศจิกายน 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น