กรมที่ดินเดินหน้ารับคำขอเปลี่ยนส.ค.1เป็นโฉนด วันสุดท้าย 8ก.พ.2553 ตามกฎหมายแก้ไขประมวลที่ดิน "อนุวัฒน์" อธิบดีกรมที่ดินลั่น สำนักงานที่ดินทั่วประเทศต้องรับบริการจนคนสุดท้าย หากคนมากต้องเลื่อนเวลาจนถึงเที่ยงคืน เผยมีคนยื่นแล้วกว่า 2 แสนรายส่วนที่เหลือ 8 แสนรายคาดว่าออกโฉนดไปแล้ว
นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดินเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากกรณีที่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ จะเป็นวันสิ้นสุดการนำเอกสาร แจ้งการครอบครองที่ดินหรือ ส.ค.1 มายื่นคำร้องขอออกเอกสารสิทธิประเภทโฉนด โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2551 มาตรา 8 ที่กำหนดให้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ คือวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ให้ สามารถแสดงหลักฐานและยื่นขอออกโฉนดได้
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีประชาชนนำส.ค.1 มายืนคำร้องขอออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วกว่า 200,000 ราย เหลืออีกกว่า 800,000 ราย ขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ซึ่งเข้าใจว่า ส่วนใหญ่จำนวนนี้จะเป็นส.ค.1ที่เคยออกเอกสารสิทธิไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งอาจไม่มีเวลาหรือที่ดินกับเจ้าของที่ดินอยู่คนละที่กันเช่น ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเป็นต้น
ขณะเดียวกันกรมไม่นิ่งนอนใจ เพราะเชื่อว่า วันสุดท้าย หรือก่อนที่กฎหมายจะหมดอายุ มักจะมีคนหลั่งไหลเข้ามายื่นคำขอกันมาก ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับช่วงราคาประเมินใหม่จะประกาศใช้หรือมาตรการลดหย่อน ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินใกล้หมดอายุเป็นต้น ซึ่งกรมจะเตรียมความพร้อมด้วยการให้สำนักงานที่ดินอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศ รับมือกับปริมาณประชาชนที่อาจจะหลั่งไหลมาใช้บริการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะต้องรับคำขอทุกรายจนกระทั่งคนสุดท้ายแม้จะต้องขยาย เวลาออกไปจนถึงเที่ยงคืนหรือ 24.00 น.ก็ตาม
อธิบดีกรมที่ดินกล่าวต่อว่า ต้องการ ให้ประชาชนรีบนำหลักฐานส.ค.1มายื่นคำขอ ออกโฉนด ซึ่งตามข้อเท็จจริงกฎหมายเปิดช่องให้ ยื่นแทนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของส.ค.1 เดินทางมาเอง เมื่อเจ้าหน้าที่รับคำขอ จะยึดวันที่ยื่นหลักฐานเป็นเกณฑ์
ส่วนขั้นตอนการดำเนินการอาจต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์สิทธิ์อีกนาน เช่นเจ้าหน้าที่ ที่ดินจะต้องรังวัดสอบเขตที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินจะต้องให้ความร่วมมือในการนำชี้แนวเขตที่ดิน โดยมีผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงเป็นพยาน ซึ่งผู้ที่นำส.ค.1มายื่นเพื่อขอออกโฉนดไม่จำเป็นเสมอไปว่า จะได้โฉนดทุกรายเพราะบางรายเจ้าหน้าที่อาจพิสูจน์ได้ว่าแจ้งเท็จ นำส.ค.1จากที่อื่นมาสวมสิทธิ์ขอออกโฉนด ทับที่ชาวบ้านรายอื่นหรือขอออกโฉนดทับเขตป่าสงวน อีกประเด็นที่น่าจับตาก็คือ บางรายมีกลุ่มนายทุนเพิ่งซื้อขายเปลี่ยนมือส.ค.1ราคาถูกจากชาวบ้านและนำมา ยื่นให้ทันกำหนดเพื่อขอออกโฉนดก็มีซึ่งกรมจะตรวจสอบอย่างรัดกุมเพื่อป้องกัน การทุจริตต่อไป
"ขอยืนยันว่ากฎหมาย มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551ที่ผ่านมา และให้เวลายื่นคำขอ 2 ปีโดยสิ้นสุดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 แต่เนื่องจาก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุดทางราชการ ดังนั้นกรมที่ดินจึงขยายเวลาเพื่อชดเชย อีก 1 วันเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายดังกล่าว หากพ้นกำหนด และผู้ครอบครองต้องการยื่นคำร้องนำ ส.ค.1 ไปออกโฉนดให้ยื่นเรื่องต่อศาลและให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งสถาน เดียว"
ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่และนายทุนนำส.ค.1 จากแปลงอื่น ที่ออกเอกสารสิทธิแล้ว ไปสวมสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้านแปลงอื่นๆ หรือเรียกว่าส.ค.1บิน ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องตามมา ดังนั้นกรมที่ดินจึงแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกส.ค.1 และให้เวลาเจ้าของที่ครอบครองอยู่จริงเร่งนำไปยื่นขอเปลี่ยน ส.ค.1 เป็นโฉนดดังกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ : 4-6 ก.พ. 53
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
4 กุมภาพันธ์ 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น