ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
12 ตุลาคม 2552

สคบ.เผยสถิติร้องเรียนเกี่ยวกับอสังหาฯยัง ครองแชมป์ จ่อคุม "เว็บไซต์" สื่อยอดฮิตของดีเวลอปเปอร์ในยุคนี้ ชงบอร์ดออกประกาศควบคุมโฆษณาบ้าน-คอนโดฯ ป้องกันปัญหาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากโฆษณาเกินจริงหรือเป็นเท็จ ชี้อย่าอาศัยข้อมูลจากสื่อประเภทเดียวตัดสินใจ ให้ใช้สื่ออื่นประกอบด้วย

นับวันสื่อ "อินเทอร์เน็ต" เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคในรูปแบบของการโฆษณาผ่านเว็บ ไซต์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการโฆษณาเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยหรือซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการหลงเชื่อโฆษณา ที่อาจมีข้อความไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีแนวคิดจะหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) พิจารณาให้การโฆษณา "อสังหาริมทรัพย์" ผ่านเว็บไซต์เป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมข้อความ
นายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการ สคบ. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สคบ.มีแนวคิดจะดำเนินการควบคุมการโฆษณาธุรกิจอสังหาฯทางสื่ออินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์) เพื่อป้องกันผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากการลงประกาศโฆษณาเกินความจริง เนื่องจากปัจจุบันการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยผ่านทาง เว็บไซต์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามการลงประกาศโฆษณาผ่านสื่อดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จึงอาจเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะสามารถเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน สคบ.จึงเห็นว่าอาจต้องหามาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็น ธรรมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันจะพยายามไม่ให้กระทบผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยสุจริต

โดยจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าด้วยการโฆษณา หากคณะกรรมการเห็นชอบตามที่เสนอ ก็จะเสนอ คคบ.พิจารณาอนุมัติต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูล เพื่อจะได้ชั่งน้ำหนักผลดี ผลเสียที่จะตามมาโดยรอบด้าน ประเด็นสำคัญคือจะควบคุมหรือไม่ ต้องดูที่ผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก และถือเป็นการดำเนินมาตรการป้องกันล่วงหน้า แม้ สคบ.ยังไม่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้จากผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการที่ใช้สื่อชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอสังหาฯราย ใหญ่หรือรายกลางที่ได้รับความเชื่อถือและมีความเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้ในส่วนของผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ซื้อบ้านเองก็มีความระมัดระวัง เพราะการซื้อทรัพย์สินประเภทบ้านหรือคอนโดมิเนียมมีมูลค่าค่อนข้างสูง จึงใช้วิธีหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อในสื่อประเภทอื่น ๆ ด้วย อย่างแผ่นพับ วารสาร สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

"เปรียบเทียบกับการโฆษณาอสัง หาฯผ่านช่องทางอื่น ๆ แล้ว เวลานี้การร้องเรียนดีเวลอปเปอร์ที่ใช้สื่อเว็บไซต์ยังไม่มีปรากฏ และแม้การร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการอสังหาฯยังมีสถิติสูงสุด เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ คือมีสัดส่วนถึง 40% ของยอดร้องเรียนที่ผู้บริโภคร้องเรียนมายัง สคบ. แต่ลดลงจากช่วงวิกฤตฟองสบู่มาก"

เลขาธิการ สคบ.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงฉบับใดควบคุมการลงประกาศโฆษณาทางสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เหมือนกับการโฆษณาอสังหาฯทางสื่ออื่น ๆ อาทิ บิลบอร์ด แผ่นพับ วารสาร หนังสือพิมพ์ ซึ่งกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จะกำหนดให้ต้องระบุรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขนาดเนื้อที่โครงการ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการ ภาระผูกพัน ฯลฯ

นอกจากนี้ สคบ.จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจ จะเกิดจากการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์พร้อม ๆ กันไปด้วย เนื่องจากการใช้สื่อดังกล่าวปัจจุบันมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลายหน่วย งาน ประกอบด้วยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมที่ดิน ฯลฯ จากที่ปัจจุบันมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันตนอยาก ฝากข้อแนะนำถึงผู้บริโภคที่กำลังมองหาซื้อที่อยู่อาศัยว่าควรใช้ข้อมูล ประกอบการตัดสินใจหลาย ๆ ด้าน และพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ควรดูโฆษณาทางเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะหาข้อมูลจากสื่อโฆษณาอื่นประกอบ ไม่ว่าจะเป็นบิลบอร์ด แผ่นพับ วารสาร หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ฯลฯ และหากเป็นไปได้ก็ควรจะบันทึกหรือเก็บเอกสารเกี่ยวกับการโฆษณาของโครงการ ต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน เพราะหากเกิดปัญหาโฆษณาเกินความจริงหรือเป็นเท็จในภายหลังจะได้ใช้เป็นหลัก ฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลล่าสุดของ สคบ.ระบุว่า ปีงบประมาณ 2550 (ต.ค. 2549-ก.ย. 2550) สคบ.รับเรื่องร้องเรียนรวม 5,723 ราย ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอสังหาฯ 2,470 ราย หรือ 43% ปีงบประมาณ 2551 (ต.ค. 2550-ก.ย. 2551) มีเรื่องร้องเรียนรวม 5,041 ราย ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอสังหาฯ 2,190 ราย หรือ 43% และปีงบประมาณ 2552 สถิติล่าสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551-สิงหาคม 2552 มีเรื่องร้องเรียนรวม 5,502 ราย ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอสังหาฯ 2,351 ราย หรือ 42%

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11-10-52

0 ความคิดเห็น: