ลาก ยาว พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผอ.สศค.คนใหม่เผยไม่รีบร้อน จะเสนอเมื่อมีความชัดเจนที่สุด พ่วงทั้งกฎหมายแม่และลูกพร้อมกัน ป้องกันสับสน
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักการที่เป็นกฎหมายแม่เสร็จเรียบ ร้อยแล้ว แต่ต้องรอกฎหมายประกอบเกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บให้ชัดเจนและเสร็จสมบูรณ์ ก่อน จึงจะเสนอต่อนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เพราะ สศค.ต้องการให้เกิดความชัดเจนและสามารถตอบคำถามให้กับสังคมในประเด็นต่างๆ ที่สงสัยได้
"เราไม่ได้รีบร้อนที่จะเสนอกฎหมายหรือออกมาพูดก่อนที่จะ สรุปทุกอย่างลงตัวและชัดเจนที่สุด เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าตัวกฎหมายแม่จะเสร็จแล้ว แต่ตัวกฎหมายลูกยังไม่ชัดเจน เพราะมีบางเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ไม่ชัดเจนว่า จะจัดเก็บในอัตราใด และในลักษณะใด เช่น ที่ดินเพื่อการเกษตรกำหนดไม่เกิน 0.05% ที่ดินพาณิชย์เก็บไม่เกิน 0.1% แต่ก็ยังมีคำถามว่า อย่างไรที่เป็นการเกษตร หรือพาณิชย์ ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดให้ชัดเจน เพราะจะส่งผลกระทบได้ จึงไม่ได้กำหนดกรอบเวลาบังคับ แต่จะดูให้รอบคอบและชัดเจนที่สุด"
นายสาธิตกล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการพิเศษคือ การออกร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังรัฐบาล ซึ่งเป็นการออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เพราะแม้ว่าจะมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องการคลังแล้ว 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ร.บ.เงินคงคลัง และ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ แต่ยังมีบางรายการที่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับยังไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมได้ เช่น โครงการระหว่างรัฐกับเอกชน กองทุนสาธารณะ หรือการคลังท้องถิ่น
"กฎหมาย ใหม่ที่จะออกมานั้นน่าจะผลักดันและบูรณาการกฎหมายทั้ง 3 ฉบับให้ครอบคลุมส่วนที่ขาด เพื่อให้มีมาตรฐานและโปร่งใส เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังรัฐบาลมีประสิทธิภาพและองค์รวมมากขึ้น เพื่อบังคับใช้ร่วมกับกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่มีอยู่แล้วรวมถึงร่วมกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน (พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535) ให้สมบูรณ์และเห็นภาพรวมของการบริหารงบประมาณทั้งหมดอย่างชัดเจน จากเดิมที่กระจายในแต่ละหน่วยงาน"
นายสาธิตกล่าวว่า สศค.ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องในการผลักดันกฎหมายต่างๆ อีก 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ซึ่งในหลักการเสร็จสมบูรณ์และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอ ครม.ต่อไปแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องให้ความสำคัญกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย เพราะยังมีลูกจ้างจำนวนมากที่ยังไม่เข้าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ พ.ร.บ.การติดตามหนี้ที่เป็นธรรม และ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด นอกจากนั้นยังมีนโยบายเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศให้สูงขึ้น ไม่ใช่การเพิ่มปริมาณเท่านั้น ซึ่งได้มอบหมายกับคนที่เกี่ยวข้องไปแล้วว่า ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าสินค้าจาก 100 บาท เป็น 100 ดอลลาร์ได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกของไทย รวมถึงเปิดช่องทางให้คนที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศสามารถมาทำงานใน ไทยได้
ที่มา : มติชนรายวัน 10-10-52
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
10 ตุลาคม 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น