ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
28 กันยายน 2552

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่มีภาวะฟองสบู่ แม้ว่าอุปทานคงค้างจะมีระดับสูงก็ตาม

แม้ว่าในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยของไทยจะได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่เริ่ม ฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในอัตราที่ต่ำ รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแผนการขยายการลงทุนเพิ่มก็ตาม แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของฟองสบู่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2534 – 2539 ที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา

เนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกัน อาทิ ภาวะอุปทานในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงปี 2534-2539 ซึ่งจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลตั้งแต่ปี 2534 เรื่อยมาจนถึงปี 2540 มีจำนวนมากกว่า 100,000 หน่วย/ต่อปี ในขณะที่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 72,000 หน่วย/ต่อปี ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการ อสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวทางธุรกิจ โดยบางรายได้ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ และแม้ว่าในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มเปิดโครงการใหม่มากขึ้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว และกำลังซื้อของผู้บริโภคกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ของผู้ประกอบการ ก็ยังคงเป็นไปในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะตลาด ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงประมาณร้อยละ 40.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่าจำนวนอุปทานที่จะเข้าสู่ตลาดในระยะข้างหน้ายังมีจำนวนไม่สูงนัก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ของไทยยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ ถึงภาวะฟองสบู่ในขณะนี้ก็ตาม และแม้ว่าอุปทานรอขายอยู่ในตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีจำนวนประมาณ 104,066 หน่วย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถบริหารจัดการได้ก็ตาม แต่การลงทุนโครงการใหม่ๆ ผู้ประกอบการอาจจะต้องทำการศึกษาและวิจัยการตลาดมากขึ้น

โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการจำนวนมากต่างหันมาพัฒนาโครงการที่เหมือนกัน และเน้นกลุ่มลูกค้าระดับเดียวกันพร้อมกันนั้น อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอาจจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ซึ่งในภาวะที่มีโครงการออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ลักษณะรูปแบบของโครงการ และทำเลที่ตั้งที่อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ผู้บริโภคสามารถที่จะใช้เวลาในการเลือก และเปรียบเทียบสินค้า ก่อนทำการตัดสินใจ อาทิ ราคาในทำเลที่ใกล้เคียงกัน ขนาดของห้องชุด รูปแบบของโครงการ วัสดุที่ใช้ในการตกแต่ง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของโครงการท่ามกลางภาวะตลาดที่ มีการแข่งขันสูงเช่นในปัจจุบัน

โดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : กรุงเทพธุรกิจ 28-09-52

0 ความคิดเห็น: