คลังจบประชาพิจารณ์ร่าง ก.ม.ภาษีที่ดิน เผย อบต.หลายแห่งเสนอให้เก็บภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์เพิ่มจาก 0.5% เป็น 1.5% เตรียมชงปรับปรุงกลางเดือนนี้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กลางเดือนนี้ ตนจะรายงานต่อคณะทำงานร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึงผลการเปิดรับ ฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า มีข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงในหลายประเด็น อย่างไรก็ตามการพิจารณาปรับปรุงนั้น จะขึ้นอยู่กับคณะทำงานที่ร่างกฎหมายว่าจะเห็นเป็นอย่างไร
ทั้งนี้มีข้อเสนอในเบื้องต้นในประเด็นต่างๆ 1.กรณีเพดานการจัดเก็บภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์นั้น ปัจจุบันกำหนดในร่างกฎหมายอยู่ที่ 0.5% ของมูลค่า ขณะที่มีข้อเสนอจากองค์การบริหารส่วนตำบลในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจากจังหวัดระยอง ระบุว่า หากกำหนดอัตราการจัดเก็บในอัตราดังกล่าว จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นต่ำกว่าที่เป็นอยู่ กล่าวคือ การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจะอยู่ที่ 12.5% ของอัตราค่าเช่า ฉะนั้นจึงอยากให้กำหนดอัตราการจัดเก็บที่สูงกว่านี้ เช่น ควรจัดเก็บในอัตรา 1.5% ของมูลค่า โดยอาจตั้งเป็นเพดานไว้ แต่ท้องถิ่นสามารถกำหนดอัตราการจัดเก็บได้เอง เป็นต้น
2.กรณีการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ยังไม่แล้วเสร็จนั้น จะมีการจัดเก็บอย่างไรภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการที่กำหนดอัตราภาษีที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็น ประธาน สามารถกำหนดให้จัดเก็บในอัตราต่ำได้ โดยมีข้อเสนอว่า ควรจะจัดเก็บในอัตรา 0.1% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราการจัดเก็บภาษีสำหรับที่อยู่อาศัย เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงควรเก็บในอัตราเชิงพาณิชย์
3.ในส่วนของทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างรอการขายของสถาบันการเงินนั้น มีข้อเสนอว่า ควรที่จะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่ เพราะถือเป็นทรัพย์สินรอการขาย และบางรายการเป็นที่ดินที่ไม่มีการพัฒนา ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาภายใน 3 ปี จะเสียภาษีเพิ่มอีกเท่าตัวตามร่างกฎหมายนี้ จึงเสนอให้มีการผ่อนปรน ซึ่งเราจะเสนอให้มีการผ่อนปรน โดยตีความว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินหรือที่ดินตามควร เพราะถือว่า ถือไว้เพื่อรอการขาย
สำหรับอัตราภาษีตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่คาดว่า จะสามารถผลักดันเข้าคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยมีอัตราภาษีที่เป็นเพดาน 3 อัตรา คือ สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยเก็บในอัตรา ไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เก็บไม่เกิน 0.05% ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้กำหนดเองว่าควรเป็นอัตราใด
สำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตามควรแก่สภาพที่ดิน ตามกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ ภายใน 3 ปีแรกของการใช้กฎหมายฉบับนี้ จะให้เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่หากยังไม่ได้นำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ จะปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวในทุกๆ 3 ปี แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 2%
นายสมชัยกล่าวว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านการอนุมัติจาก ครม.และรัฐสภาได้ภายในปีนี้ ผลบังคับใช้จริงของกฎหมายฉบับนี้ก็จะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า และภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ในปีแรกของการบังคับใช้ จะเก็บภาษีเพียง 50% ของอัตราที่ประกาศใช้ ปีที่สองเก็บในอัตรา 75% และปีที่สาม จึงเก็บในอัตรา 100% ของภาษีที่กำหนด
ทั้งนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนใน ประเทศ เพราะปัจจุบันคนไทย 90% ถือครองที่ดินต่ำกว่า 1 ไร่ และ 10% ของคนไทย ถือภาษีมากกว่า 100 ไร่ นอกจากนี้ รายได้จากภาษีตัวนี้ ไม่ได้เข้ารัฐบาลกลาง และเป็นรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจากประเมินของ สศค.หาก เก็บภาษี ที่อยู่อาศัยในอัตราเพียง 0.02%, เกษตรกรรม 0.01% และเชิงพาณิชย์และที่ดินว่างเปล่าในอัตรา 0.10% รัฐจะได้รายได้ปีละ 8.77 พันล้านบาท และหากเก็บเต็มเพดานตามที่กฎหมายกำหนด รัฐจะได้รับ 9.02 หมื่นล้านบาทต่อปี
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 07-09-52
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
8 กันยายน 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น