ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
28 มิถุนายน 2552

สรุปความรู้เกี่ยวกับการประกันอัคคีภัยที่ผู้เอาประกันควรรู้

1. ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย

การประกันอัคคีภัยให้ความคุ้มครองเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินจากภัยพื้นฐานต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ไฟไหม้
1.2 ฟ้าผ่า
1.3 แรงระเบิดของแก๊ส ที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงความเสียหายจากการระเบิดของแก๊สจากแผ่นดินไหว
1.4 ความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษ ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย

ความเสียหายที่สืบเนื่องจากไฟไหม้และฟ้าผ่า

ความเสียหายที่สืบเนื่องจากไฟ หมายความถึง ความเสียหายอันเป็นผลมาจากไฟ้ไหม้ถ้าเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ได้เอา ประกันอัคคีภัยไว้ก็ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ได้แก่
1) ความเสียหายที่เกิดจากน้ำที่ใช้ดับไฟ หรือสารดับเพลิงอื่น ๆ ที่ใช้ดับไฟ เช่น ทรัพย์สินที่อยู่ใกล้เคียงต้องถูกฉีดน้ำทำให้เปียก และเสียหาย เป็นต้น
2) ความเสียหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เช่น เจ้าหน้าที่ต้องพังบ้าน หรือกรุยทางเข้าไปดับเพลิง หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงขึ้นไปยืนบนหลังคาบ้านที่ยังไม่ถูกไฟไหม้ เพื่อฉีดน้ำเข้าไปในบ้านที่ถูกระเบิดเพื่อป้องกันมิให้ไฟขยายตัวต่อไป
3) ความเสียหายที่ถูกระเบิดเพื่อป้องกันมิให้ไฟขยายตัวต่อไป
4) ความเสียหายจากควัน หรือการถูกลนจนเกรียมด้วยความร้อนจากไฟ
5) ความเสียหายที่เกิดจากสิ่งที่พังของกำแพงหรือการหล่นลงมาของชิ้นส่วนอาคารที่ถูกไฟไหม้เช่น ไฟไหม้กำแพงข้างบ้านและหล่นลงมาทับเอาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียหายเป็นต้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือสืบเนื่องมาจากฟ้าผ่า ไม่ว่าจะมีไฟเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ย่อมได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย

2. ภัยที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
การประกันอัคคีภัยจะไม่คุ้มครอง
2.1 ความเสียหายซึ่งเกิดจากสงคราม การรุกราน การกระทำที่มุ่งร้ายของศัตรูต่างชาติ หรือการกระทำที่มุ่งร้ายคล้ายสงคราม ไม่ว่าจะได้มีการประกาศสงครามหรือไม่ก็ตาม หรือสงครามกลางเมือง การแข็งข้อ การกบฎ การจลาจล การนัดหยุดงาน การก่อความวุ่นวาย การกระทำของผู้ก่อการร้าย การปฏิวัติ การรัฐประหาร การประกาศกฎอัยการศึก หรือเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการประกาศหรือคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก
2.2 การแผ่รังสี หรือการแพร่กัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือจากกากนิวเคลียร์ใด ๆ อันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
2.3 การระเบิดของกัมมันตรังสี หรือส่วนประกอบของนิวเคลียร์ หรือวัตถุอันตรายอื่นใดที่อาจเกิดระเบิดในกระบวนการนิวเคลียร์ได้
2.4 ความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้อง ค่าเสียหายหรือมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลหรือกรมธรรม์ประกันภัยขนส่ง ยกเว้นความเสียหายส่วนที่เกินกว่าจำนวนเงิน ซึ่งจะได้รับการชดใช้จากกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวนั้น
2.5 สินค้าที่อยู่ในการดูแลรักษาของผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์
2.6 เงินแท่ง หรือเงินรูปพรรณ หรือทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ หรืออัญมณี
2.7 โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุสำหรับความเสียหายรวมส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท
2.8 ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสาร แบบแปลน แผนผัง ภาพเขียน รูปออกแบบ ลวดลาย แบบ หรือ แบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์
2.9 หลักประกันหนี้สิน หลักทรัพย์ เอกสารสำคัญต่าง ๆ ไปรษณียากร อากร แสตมป์ เงินตรา ธนบัตร เช็ค สมุดบัญชี หรือสมุดหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจใด ๆ
2.10 วัตถุระเบิด
2.11 ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า แผงควบคุม
2.12 ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากหรือเพราะการเดินเครื่องเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้าเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้าเกินกำลังหรือไฟฟ้าลัดวงจรรวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า เฉพาะเครื่องที่เกิดความเสียหายในกรณีดังกล่าว
2.13 ความเสียหายต่อเนื่องใด ๆ ทุกชนิดเว้นแต่การสูญเสียรายได้จากค่าเช่าที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับนี้ว่าได้รับความคุ้มครอง
2.14 ความเสียหายจากการเผาทรัพย์สิน โดยคำสั่งเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

3. การขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมจากภัยพื้นฐาน
หากผู้เอาประกันภัยต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมจากความคุ้มครองพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น สามารถซื้อเพิ่มเติมได้โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ภัยที่ขอซื้อเพิ่มเติมได้มีดังนี้

ภัยลมพายุ ภัยจากลูกเห็บ ภัยระเบิด ภัยอากาศยาน ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากควัน ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน ภัยจากการกระทำอย่างป่าเถื่อนหรือการกระทำอันมีเจตนาร้าย ภัยเกิดขึ้นเองตามปกติวิสัย มีการลุกไหม้หรือการระเบิด ภัยเกิดขึ้นเองตามปกติวิสัย และ/หรือ ไม่มีการลุกไหม้หรือการระเบิด ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า

4. การทำประกันอัคคีภัย
ทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันอัคคีภัย ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ก็ตามที่ไม่ได้ระบุอยู่ในข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย

5. สิ่งที่ควรทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันอัคคีภัย
5.1 เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้า และต้องส่งมอบหนังสือแจ้งรายละเอียดทรัพย์สินที่สูญเสียและเสียหายและมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินนั้น ๆ โดยละเอียด
5.2 การเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัย - หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ทำให้สาระสำคัญของการประกันภัยถูกทำลายลง เช่น การเปลี่ยนแปลงการค้าหรือการผลิตไปจากที่ระบุไว้ในตาราง กรมธรรม์ฯ การย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไปยังสิ่งปลูกสร้างหรือสถานที่อื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ฯ ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งให้บริษัททราบ
- ถ้าหากมีการเปลี่ยนมือของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยวิธีอื่นนอกจากโดยทางพินัยกรรม หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายไปให้ผู้อื่น ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งการโอนให้บริษัททราบ เพื่อประโยชน์ในความคุ้มครองที่จะโอนตามไปด้วย
5.3 ทรัพย์สินที่มีการเอาประกันภัยประเภทอื่นไว้แล้ว เช่นประกันภัยทางทะเล หรือประกันภัยรถยนต์ ผู้เอาประกันภัยจะสามารถเรียกร้องความเสียหายจากการประกันอัคคีภัยได้เฉพาะ จำนวนเงินที่เกินกว่าจะเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้อยู่ ก่อนหน้า
5.4 ผู้เอาประกันอัคคีภัยสามารถขยายความคุ้มครองไปถึงเหตุการณ์หรือภัยต่าง ๆ ที่ได้ไม่ระบุไว้ในความคุ้มครองพื้นฐานได้ เช่น ภัยธรรมชาติ และภัยอื่น ๆ โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

ที่มา : โดยกรมการประกันภัย

0 ความคิดเห็น: