ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
21 พฤษภาคม 2552

อสังหาริมทรัพย์วอนขุนคลังทบทวนภาษีที่ดิน นายกส.บ้านจัดสรรชี้ช่องโหว่สร้างความไม่เท่าเทียม เหตุผู้ซื้อบ้านจัดสรร-คอนโดฯที่มีภาระจ่ายค่าส่วนกลาง ภาษีและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเปลี่ยนมือกลายเป็นผู้รับภาระภาษีซ้ำซ้อนไป เต็มๆ

ภายหลังจากที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตัดสินใจเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...เข้า สู่ที่ประชุมสภา เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ปลายปี 2552 เนื่องจากในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้ว่าให้มีผลบังคับใช้ หลังจากที่กฎหมายผ่านความเห็นจากสภาไปแล้ว 2 ปี โดยมีสาระสำคัญคือ ในอนาคตหากกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้จะมีผลทำให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวา คอนโดมิเนียม พื้นที่การเกษตรจะต้องเสียภาษีตามอัตราโครงสร้างที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้คือ ตั้งแต่ 0.01-0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน กลายเป็นประเด็นฮอตอิสชูอีกครั้งของสังคมไทย เพราะแนวโน้มเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

ดีเวลอปเปอร์ไม่กระทบ หมดยุคตุนที่ดิน

นายธงชัย บุศราพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดเก็บภาษีธุรกิจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นนโยบายที่ดีถึงแม้จะส่งผลให้บริษัทพัฒนาที่ดินมีต้นทุนการพัฒนา โครงการเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม และหากมองในเชิงวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินเปล่าในความ ครอบครองมาทำประโยชน์ก็ถือเป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัจจุบันบริษัทพัฒนาที่ดินส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนนโยบายการทำธุรกิจใหม่ คือไม่สะสมที่ดินไว้เป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันความเสี่ยง อย่างกรณีของโนเบิลฯปัจจุบันมีที่ดินรอการพัฒนาประมาณไม่เกิน 100 ไร่ หากรัฐบาลเรียกเก็บภาษีที่ดินก็คงมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากและอยู่ในเกณฑ์ที่ รับได้ ยกเว้นเป็นบริษัทที่มีที่ดินครอบครองไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ คงจะได้รับผลกระทบบ้าง ดังนั้นเจ้าของที่ดินอาจเลือกนำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ อาทิ ทำเกษตรกรรม ปล่อยเช่า ฯลฯ ซึ่งถือว่าตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายและอัตราจัดเก็บภาษียอมรับได้ และเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการซื้อที่ดินของบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะปัจจุบันการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรส่วนใหญ่จะลดขนาดโครงการ โดยมีที่ดินเฉลี่ยไม่เกิน 60-70 ไร่เพื่อที่จะสามารถปิดการขายได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายชายนิดแนะประเด็นใหม่ว่า รัฐบาลควรผลักดันให้เกิดการจัดเก็บภาษีมรดกควบคู่กันไปได้เพื่อให้เกิดความ เป็นธรรม เพราะกรณีได้รับมรดกเป็นที่ดินแต่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ก็ควรถูกจัดเก็บภาษี เช่นกัน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหารบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รัฐบาลทำแบบนี้จะว่าผิดก็ไม่ได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูก เพราะการเก็บตุนที่ดินไว้ในที่ต่างๆ โดยไม่ทำอะไรเลย กลายเป็นที่รกร้าง ทำให้ไม่มีความเจริญ และทำให้ที่ดินข้างเคียงมูลค่าลดลงตามไปด้วย ในหลายประเทศก็ทำกัน แต่ถ้าผู้ประกอบการอสังหาฯที่มีที่ดินเปล่าจำนวนมาก แล้วแห่กันพัฒนาเพื่อไม่ให้เสียภาษีส่วนนี้ จะทำให้เกิดสินค้าล้นตลาดเพราะไม่รู้จะไปขายให้ใครได้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

หวั่นลูกค้าบ้านจัดสรรจ่ายภาษีซ้ำซ้อน!

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการจัดสรรส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ตนมีแนวคิดจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้พิจารณาทบทวนกฎหมายที่ มีความซ้ำซ้อนควบคู่กันไปด้วย เช่น

1.กรณีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่อยู่อาศัย ปัจจุบันผู้ซื้อและผู้ขายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ค่าจดจำนอง 1% ค่าธรรมเนียมโอน 1% และภาษีเงินได้ 2.5% รวมแล้วต้องมีการจ่ายภาษีเกือบๆ 10% ในอนาคตเมื่อมีการจัดเก็บภาษีที่ดินเพิ่มเติมขึ้นมาอีกย่อมเท่ากับกลุ่มนี้ มีภาระภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้น รัฐควรจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีการซื้อขายเปลี่ยนมือลงเพื่อไม่ให้ต้องแบก ภาระภาษีมากเกินจำเป็น

2.กรณีผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมตาม พ.ร.บ.จัดสรร และ พ.ร.บ.อาคารชุด ปัจจุบันต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางตามกฎหมายอยู่แล้ว การจัดเก็บภาษีที่ดินรัฐควรคิดเรตต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ (ผู้ที่ไม่ต้องจ่ายค่าพื้นที่ส่วนกลาง) อย่างไรก็ตาม หากเมื่อใดที่นิติบุคคลจัดสรรถูกยกเลิกและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้ามาดูแลแทนก็ให้หันไปเก็บภาษีที่ดินในอัตราปกติ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 21-05-52

0 ความคิดเห็น: