ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
19 พฤษภาคม 2552

ใครได้ ใครเสีย หากรัฐประกาศใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นายกส.จัดสรรเสนอ 8 แนวทางหนุนนโยบาย แนะเจ้าของที่ดินปล่อยเช่าทำเกษตร

แนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลยุค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พยายามผลักดันนี้ เป็นอย่างไร แล้วมีประโยชน์อย่างไร ข้อดี ข้อเสียเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรรู้ และให้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อตัดสินใจได้อย่างถูกต้องก่อนจะยกมือ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายใหม่ต่างๆ ที่ประกาศออกมาใช้ ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ สังคมต้องช่างน้ำหนักว่าประโยชน์ที่เสียไปนั้น คุ้มกับสิ่งที่ได้มาหรือไม่

ใคร “ได้” ประโยชน์ ใคร “เสีย” ประโยชน์ ในเรื่องนี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอทบทวนอีกเรื่องอีกสักครั้ง โดยจะพยายามนำเสนอหลากหลายมุมมองของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งวันนี้ขอนำเสนอมุมมองของ “นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร” คนใหม่ล่าสุด “อิสระ บุญยัง”

นายอิสระ กล่าวให้ความคิดเห็นว่า โดยหลักเกณฑ์เรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ว่าเป็นเรื่องที่ดี และทางสมาคมฯ ก็มีความเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว แต่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสิ่งที่จะได้รับ รวมถึง การวางกรอบที่ชัดเจนว่าเงินภาษีที่จัดเก็บไปแล้วนั้นจะนำไปทำประโยชน์ในด้าน ใดบ้าง และประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรกับแนวทางนี้บ้าง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีการจัดทำเป็น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ทดแทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ในส่วนของท้องถิ่นที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน กำหนดอัตราภาษี 3 อัตรา คือ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัยโดยไม่เชิงพาณิชย์ไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่เกิน 0.05%

จริงๆ แล้วเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรามีกฎหมายการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการยกเว้น โดยหากยกตัวอย่างเฉพาะในกรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายนั้นๆ ปัจจุบันมีการกำหนดว่า ในเขตเมือง หากผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 100 ตารางวา ต้องเสียภาษีดังกล่าว เขตชานเมือง ผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 1 ไร่ ต้องเสียภาษีดังกล่าว และที่ดินเกษตรกรรม ผู้ที่มีที่ดินเกษตรเกินกว่า 5 ไร่ จะต้องเสียภาษีดังกล่าว ซึ่งสำหรับกรุงเทพฯ แล้วเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าพื้นที่ใด คือ เขตเมือง เขตชานเมือง ส่วนใหญ่จึงได้รับการยกเว้นไม่ได้เสียภาษีในส่วนนี้ แต่สำหรับผู้ที่ดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น อาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานต่างๆ เป็นต้น ล้วนต้องเสียภาษีโรงเรือน

สรุปได้ว่า ผู้ที่มีที่อยู่อาศัยทั่วไปส่วนใหญ่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้เสียภาษีดังกล่าว เมื่อมีการประกาศว่า จะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะเกิดความเข้าใจได้ในชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แม้ทางสมาคมฯ จะเห็นด้วยในหลักการ แต่ความที่รัฐบาลยังไม่มีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ ก็เสนอว่า รัฐบาลควรทำเป็นโมเดลอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า ประชาชนจะได้อะไร และผู้ประกอบการธุรกิจที่มีรายได้มาก จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้จริงหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลควรอาศัยเวลาอีก 2 ปีเป็นช่วงเตรียมตัวและให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเต็มที่ก่อนจะใช้อย่างเป็น ทางการในปี 2554 ตามที่ระบุไว้

เสนอ 8 แนวทางหนุนภาษีที่ดินฯ

นายอิสระ กล่าวต่อว่า ทางสมาคมฯ ขอเสนอแนวทางสำหรับการดำเนินการเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

1. ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ หากต้องภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ควรดำเนินการในลักษณะการเสียแบบขั้นบันได ในปีแรก ไม่ควรเสียเต็มจำนวน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มอัตราที่ต้องชำระ จะทำให้ผู้ไม่เคยเสียภาษีดังกล่าวสามารถยอมรับได้

2. หากมีการประกาศใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลควรทบทวนปรับโครงสร้างทางภาษีใหม่ ยกเลิกภาษีที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ มากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ภาษีค่าธรรมการโอนทรัพย์สิน การจดจำนอง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทรัพย์สิน ซึ่งรวมแล้วเกือบ 9% แต่ก่อนหน้านี้ ภาษีที่กล่าวถึงไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับประชาชนมากนัก เพราะถือว่าจ่ายครั้งเดียวจบ แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายทุกปี

3. เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากประเด็นความซ้ำซ้อนต่างๆ ในแง่โครงการจัดสรร ตามพ.ร.บ.จัดสรร พ.ศ. 2543 ผู้อยู่อาศัยจะต้องเสียค่าส่วนกลาง ไม่ว่าจะจัดตั้งนิติบุคคลหรือไม่จัดตั้งก็ตาม เพื่อดูแลสาธารณูปโภคภายในโครงการ ซึ่งไม่ใช่สาธารณูปโภคของรัฐ ผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรที่มีการจัดเก็บค่าส่วนกลาง และส่วนกลางยังเป็นของโครงการนั้น ควรได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง แต่เมื่อใดก็ตามที่โครงการหรือนิติบุคคลโอนสาธารณูปโภคให้เป็นของรัฐ และรัฐต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เท่ากับว่าผู้อยู่อาศัยในโครงการใช้สาธารณูปโภคของรัฐ จึงควรเสียภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง แต่หากกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ เท่ากับว่า ประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร เสียค่าส่วนกลางบำรุงสาธารณูปโภคต้องมีภาระที่เพิ่มขึ้น

4. นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างยังหมายรวมถึงการทำให้อำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการ รายได้ในส่วนของตัวเองได้ เป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลควรมีแนวทางที่ชัดเจนถึงการให้อิสระกับการปกครองส่วนท้องถิ่นใน การวินิจฉัยว่า ควรจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะกับกรณีที่จะกล่าวถึงในข้อ 8

5. เสนอให้ท้องถิ่น “ลดภาษี” ได้ คือ ในกฎหมายระบุไว้ว่า ท้องถิ่นสามารถเพิ่มภาษีได้แต่ไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ คือ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัยโดยไม่เชิงพาณิชย์ไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่เกิน 0.05% แต่ในบางพื้นที่ท้องถิ่นมีควรใช้นโยบาย “ลดภาษีท้องถิ่น” เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นนั้นๆ และ “เพิ่มภาษีท้องถิ่น” เพื่อควบคุมการขยายตัวของบางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น บางจังหวัดมีการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่นั้นๆ มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสูง หากมองว่า ควรควบคุมปริมาณการขยายตัวของโรงงาน ก็ปรับขึ้นภาษี เพื่อลดแรงจูงใจในการลงทุนพื้นที่นั้นๆ ขณะที่บางพื้นที่ไม่มีการลงทุนเลย รัฐบาลควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจได้ว่า ควรปรับลดภาษีเพื่อดึงคนให้เข้ามาลงทุน

6. วางกรอบการใช้เงินรายได้ที่ชัดเจน รัฐบาลควรวางกรอบที่ชัดเจนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงการใช้เงินรายได้ที่จัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ว่าเงินรายได้นี้สามารถใช้จ่ายเพื่อสิ่งใดได้บ้างในท้องถิ่นของตน นอกจากเพื่อบำรุงสาธารณูปโภค เช่น เพื่อการศึกษา สร้างห้องสมุดชุมชน เพื่อการกีฬา เพื่อคนชรา เป็นต้น ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเห็นภาพชัดเจนว่า การจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งจะช่วยลดแรงต่อต้านได้เป็นอย่างดี

7. หาเงินอุดหนุนให้บางพื้นที่ที่จัดเก็บภาษีได้น้อย เช่น บางกระเจ้า พื้นที่ที่ไม่เปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนามากนัก เพื่อคงสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี พื้นที่นี้จึงอาจมีการจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ เงินรายได้ของท้องถิ่นก็จะน้อยไปด้วย รัฐควรหาเงินสนับสนุนพื้นที่ในลักษณะเช่นนี้ด้วย

8. รัฐบาลควรทบทวนเรื่องการคิดภาษีระหว่างจากรายได้ และฐานทรัพย์สินให้เหมาะสม เพื่อให้รัฐยังคงเกิดประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี โดยปัจจุบันธุรกิจต่างๆ จะต้องเสียภาษีจากฐานรายได้ มีรายได้มาก ย่อมต้องเสียภาษีมาก แต่หากรัฐบาจะจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างด้วยการคิดจากทรัพย์สิน อาจมีบางธุรกิจ บางผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์ เช่น ศูนย์การค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่ง มียอดขายดีมาก มีรายได้สูง เดิมต้องเสียภาษี 12.5% ของค่ารายปี (อธิบายได้ว่า คือ ค่าเช่า หรือรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้) ซึ่งเป็นการคิดภาษีที่ต้องเสียจากรายได้ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ได้สูงตามไป ด้วย แต่หากคิดจากฐานทรัพย์สินแล้ว ศูนย์การค้าแห่งนี้ ย่อมเสียภาษีน้อยกว่าเดิมแน่นอน

ในกรณีดังกล่าว สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หากเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 ศูนย์การค้า คือ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมียอดขายน้อยกว่าศูนย์การค้าอีกแห่งหนึ่งที่มี ขนาดเล็กกว่า เมื่อต้องคิดภาษีจากฐานทรัพย์สินแล้ว ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มียอดขายน้อยต้องเสียภาษีมากกว่าศูนย์การค้าขนาดเล็ก ที่มีรายได้สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมนัก รวมถึง บรรดาศูนย์การค้าที่ร้างผู้คน เปิดบริการเพียงไม่กี่ชั้น แต่มีพื้นที่จำนวนมาก ย่อมต้องเสียภาษีดังกล่าวสูงเกินกว่าที่เสียอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่กล่าวถึง รัฐบาลควรต้องทบทวนอย่างรอบคอบว่ามีผลได้ ผลเสียอย่างไร ต้องจุดนี้ต้องทำเป็นโมเดลขึ้นมาอธิบายให้ประชาชนรับรู้

คนมีที่ดินเยอะต้องทำใจ เสียภาษีเพิ่ม

นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีคนที่มีที่ดินเปล่าจำนวนมากนั้น แน่นอนว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ดินเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 1 เท่าทุก 3 ปี ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการใช้กฎหมายนี้ เพื่อต้องการให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินเปล่า โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนพัฒนาโครงการมหาศาล แต่อาจแบ่งที่ดินให้เกษตรกรได้ใช้ทำกิน ให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเช่า หรือจ้างเกษตรกรมาทำเกษตรบนที่ดินเปล่าที่มีอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินแล้ว เจ้าของที่ดินยังมีรายได้และเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.05% ต่ำกว่าอัตราภาษีที่ดินเปล่าด้วย

ในขณะที่หลายคนอาจมองว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ด้วยเพราะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย แต่นายอิสระ ก็มองว่า ยังมีเวลาอีก 2 ปีกว่าจะประกาศใช้จริง ยังมีเวลาในการเตรียมตัว อีกทั้ง การใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่จำเป็นต้องลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่สามารถปล่อยให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเช่าทำอาชีพได้ดังที่กล่าวไป แล้ว

ส่วนเจ้าของที่ดินรายใดที่หวังใช้สัญญาการเช่าที่ดินเปล่า แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง เพื่อหวังเลี่ยงภาษีที่ดิน คาดว่าไม่สามารถจะทำได้ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ทันทีว่าใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจริงหรือไม่

แนะบังคับใช้คู่กฎหมายผังเมือง

นายอิสระ กล่าวอีกว่า ในระยะยาวแล้วภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างมีความจำเป็น และโดยส่วนตัวเห็นด้วยหากจะมีการนำภาษีดังกล่าวมาใช้แทนภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง และตามหลักการแล้วเชื่อว่าภาษีใหม่นี้จะมีรายได้ที่แน่นอนแก่หน่วยงานการ ปกครองส่วนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อประเทศชาติ ควรบังคับใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองและกฎหมายผังเมือง และที่สำคัญ เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีด้วย เพราะท้องถิ่นนั้นมีคณะกรรมการจังหวัดพิจารณาอยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการส่วนกลางนั้น ควรทำหน้าที่กำกับและรับอุทธรณ์

เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18-05-52

0 ความคิดเห็น: