ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
23 มีนาคม 2552

ธนาคารอาคารสงเคราะห์หวั่นลูกหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง ออกมาตรการช่วยเหลือ ตั้งเป้าภายใน 2 ปี ลดสัดส่วนเอ็นพีแอลเหลือเลขหลักเดียว

ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว เพื่อเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ปีนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าภายใน 1-2 ปีจะลดสัดส่วน NPL ลงให้เหลือตัวเลขหลักเดียว

"การช่วยเหลือ(ลูกหนี้)มีข้อจำกัดหลายเรื่อง ซึ่งเราคำนึงถึงหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง โดยมุ่งหากำไรที่พอเพียง พยายามจะช่วยเหลือลูกค้าให้ถึงที่สุด" นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส.

มาตรการดังกล่าวนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกหนี้สวัสดิการที่เป็น PL คือ ผู้กู้มีหนี้ค้างเมื่อครบกำหนดชำระแล้ว (DPD)ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งผ่อนชำระตามปกติ แต่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจนส่งผลให้ความสามารถในการชำระ หนี้ลดลงหรือไม่มีความสามารถชำระหนี้ เช่น ถูกลดวัน-เวลาทำงาน, ถูกลดเงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้, รายได้ลดลงหรือถูกเลิกจ้าง เป็นต้น

ธอส.จะเปิดให้ลูกหนี้นำเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานต้นสังกัดมายื่นประกอบ การพิจารณา ซึ่งจะช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการกู้, ลดอัตราดอกเบี้ยงินกู้ หรือให้ผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ประจำเดือน+เงินต้นประมาณ 100 บาท

อีกกลุ่มเป็นลูกหนี้ NPL(DPD มากกว่า 90 วัน) ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเช่นกัน จะช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการกู้ และคิดเงินงวดใหม่จากเงินต้นคงเหลือเพื่อให้ผ่อนชำระน้อยลง, ให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว, ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษชั่วคราว เพื่อให้ผ่อนชำระน้อยลงตามความสามารถ หรือปรับโครงสร้างหนี้(Refinance)โดยพักชำระดอกเบี้ยที่ค้างเก่าแล้วใช้ มาตรการอื่นควบคู่กันไปด้วย

นายขรรค์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือจะถูกจำกัดด้วยสาเหตุหลายประการ ได้แก่ เกณฑ์การพิจารณาผลกำไรจาก TRIS ที่กดดันการทำงานของฝ่ายจัดการ ขณะที่รัฐมีรายได้ลดลง หากผลประกอบการออกมาไม่ดีก็จะถูกตำหนิและประเมินผลไม่ดีตามไปด้วย

ขณะที่นายวัฒนา มโนเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารหนี้ ธอส.กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือลูกค้าไม่มีสูตรสำเร็จ จะต้องพิจารณาด้วยการพูดคุยเป็นกรณีไป โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการชั่วคราวที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือ ลูกหนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วลูกค้าก็จะต้องกลับมาเจรจาเพื่อตกลง เงื่อนไขกันใหม่

"เราต้องดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติ(ธนาคารแห่งประเทศไทย)กำหนด เช่น ถ้าจะลดเงินงวดลง 50% ก็ต้องกันสำรองเพิ่ม ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับธนาคาร" นายวัฒนา กล่าว

ปัจจุบัน ธอส.มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) อยู่ที่ 10% ของสินเชื่อทั้งหมด หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และปีนี้คาดว่าผลจากวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลให้มีสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นเป็น 12%

"ปีนี้คาดว่าผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้เกิด NPL เพิ่มขึ้น แต่เราจะดูแลให้เพิ่มอีกไม่เกิน 2%" นายวัฒนา กล่าว

นายวัฒนา กล่าวว่า หากเทียบกับธนาคารอื่นแล้วจะเห็นว่า ธอส.มีสัดส่วน NPL สูงกว่า เนื่องจากมีข้อจำกัดตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง ไม่สามารถที่จะตัดขายทิ้งออกไปได้ จึงไม่ถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส

ส่วนทรัพย์สินรอการขาย(NPA) ที่มีอยู่จำนวน 7 พันล้านบาทนั้น ในปีนี้จะพยายามจะปรับลดลงให้ได้มากที่สุด โดยจะเปิดประมูลขายทอดตลาดในวันที่ 25 เม.ย.ประมาณ 30% นอกจากนี้ยังมีหนี้ส่วนขาดอีกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งพยายามที่จะขายออกไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการ

สำหรับกลยุทธ์ที่จะแข่งขันเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารต่างๆ ออกแพ็คเกจออกมานั้น ในส่วนของ ธอส.ได้ให้พนักงานเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวอยู่แล้ว โดยกรณีเป็นลูกหนี้ที่ต้องการ Refinance out ราวเดือนละ 200 รายก็จะขอพูดคุยเพื่อรักษาฐานลูกหนี้ที่ดีไว้ แต่ต้องยอมรับว่า ธอส.มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อประเภทอื่นได้เลย ขณะที่ธนาคารอื่นๆ สามารถนำหนี้ทุกประเภทมารวมเพื่อขอปรับโครงสร้างได้

"เป็นโอกาสที่จะดันลูกหนี้ที่ไม่ดีออกไปและดึงลูกหนี้ที่ดีไว้ ซึ่งต้องให้พนักงาน alert อยู่ตลอดเวลา หากพบลูกค้ากลุ่มเป้าหมายก็จะเข้าไปเจรจา" นายขรรค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธอส.ก็พยายามที่จะดึงลูกค้าจากธนาคารอื่นด้วยการให้เงื่อนไขอายุสัญญาการกู้ ที่มีระยะเวลายาวนานกว่าธนาคารทั่วไป ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคง ในเรื่องอาชีพและรายได้ โดยจะให้ส่วนลดดอกเบี้ยลง 0.25-0.50%

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 23-03-52

0 ความคิดเห็น: