ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
13 มีนาคม 2552

สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ผนึกสมาคมบริหารทรัพย์สิน มูลนิธิประเมินฯ ออกแรงกระตุ้นรัฐออกพ.ร.บ.ควบคุมวิชาชีพอีกรอบ หลังถูกดองหลายรัฐบาล

วานนี้ (11 มี.ค.) สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สิน ร่วมแถลงข่าวถึงแนวทางการผลักดันให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ควบคุมวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ ครั้งใหม่ หลังจากเรื่องนี้ผ่านการผลักดันมาหลายรัฐบาล โดยความคืบหน้าล่าสุดคือ การประชุมของ คณะกรรมการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ครั้งสุดท้ายเมื่อ 19 ก.ย. 2549

นายสมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงตลาดบ้านมือสองที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยมีนายหน้าทั้งชาวไทย และต่างชาติ ทั้งนิติบุคคลกว่า 500-600 บริษัท นายหน้าอิสระอีกหลายแสนรายที่อยู่ในธุรกิจนี้ และมีจำนวนไม่น้อยดำเนินธุรกิจโดยขาดจรรยาบรรณ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายบ้านมือสองถูกโกงและเอารัดเอาเปรียบ สร้างปัญหาให้กับวงการ โดยที่สมาคมก็ไม่มีอำนาจควบคุม

"ดังนั้นภาครัฐควรจะออกกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบ ควบคุมจรรยาบรรณ ผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ "

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ ทั้ง 3 องค์กรจะหาทางเข้าไปนำ เสนอข้อมูลต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมที่ดิน, กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นต้น เพื่อให้เห็นความสำคัญของ พ.ร.บ.ควบคุมวิชาชีพ เพื่อยกระดับวิชาชีพนี้ให้มีมาตรฐานสากล และที่สำคัญก็คือเมื่ออาชีพนายหน้าได้ถูกบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมวิชาชีพอสังหาอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง เพราะหากยังไม่มีกฎหมายมากำกับดูแล หรือ ผู้ที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้โดยไม่มีการให้ไลเซ่นส์ เมื่อเกิดปัญหาก็จะทำให้ยากต่อการติดตามค้นหาข้อมูล

นายนคร มุธุศรี นายกก่อตั้งสมาคมบริหารทรัพย์สินฯ กล่าวว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องมีการร่วมมือกันสองระดับ คือ
1.สมาคมจะต้องดูแลหรือควบคุมกันเองในกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดี
2.การจัดตั้งสภาวิชาชีพขึ้นมากำกับและดูแลกันเอง และสมาคมบริหารทรัพย์สินของไทยต้องมีการควบคุมเหมือนกับประเทศอื่นๆ

ในส่วนของสมาคมบริหารทรัพย์สินฯนั้น ที่ผ่านมาได้พยายามที่จะแก้ไขผ่านขั้นตอนต่างๆ คือ การขอให้กรมที่ดินขึ้นทะเบียนบริษัท หรือ ผู้ที่บริหารอาคารชุด หรือ บริหารนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้นๆ รวมถึงผลักดันให้มีการบรรจุหลักสูตรการเรียน การสอนเข้าไปในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินฯ กล่าวว่า การผลักดันการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคงต้องดำเนินการร่วมกันอย่างเหนียวแน่นทั้ง 3 องค์กร เพื่อยกมาตรฐานสู่งานบริการอย่างมืออาชีพ และหากมีการดูแลทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพที่ดี นอกจากจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มหรือรักษามูลค่าของทรัพย์สินนั้นๆ ด้วย

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12-03-52

0 ความคิดเห็น: