ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
11 มีนาคม 2552

หากมองข้ามปัญหาทุจริตและความเกี่ยวโยงการเมืองออกไป ต้องยอมรับว่า "บ้านเอื้ออาทร" เป็นโครงการที่ดีอันหนึ่ง เพราะมุ่งสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ให้มีโอกาสซื้อบ้านได้มากขึ้น

แต่เพราะความไม่ชอบมาพากล ระหว่างเส้นทางการพัฒนา ทำให้โครงการนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ก่อหนี้ทางบัญชีให้กคช.แล้วกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท ตามคำยืนยันของ "สุชาติ ศิริโยธิพันธุ์" ผู้ว่าการกคช. ซึ่งกล่าวไว้เมื่อปลายเดือนม.ค.2552 ที่ผ่านมา

เป็นภาระหนี้ทบต้นทบดอก ที่สะสมมาตลอด 6 ปีของการดำเนินงาน หลังจากเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ปี 2546 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมตรี จากนั้นก็ถูกรื้อแผนกระทั่งถูกล้มโครงการกลางครัน เพราะปัญหาความไม่โปร่งใส และการแอบอ้างจำนวนผู้ซื้อที่มากเกินความต้องการจริง

หลังรัฐประหารเมื่อปลายปี 2549 โครงการบ้านเอื้ออาทร ถูกตรวจสอบโดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาแก่รัฐ (คตส.) ถูกสั่งทบทวนแผนงานใหม่ ในที่สุดได้ปรับลดจำนวนการพัฒนา จากแผนงานเดิม 6 แสนหน่วย เหลือเพียง 2.8 แสนหน่วยในปัจจุบัน

แม้จะตัดลดจำนวนการพัฒนาลงไปมากกว่า 50% เหลือส่วนที่ทำต่อไม่ถึงครึ่งของแผนเดิม แต่ทว่าการพัฒนา การขาย การโอน และสะสางหนี้ในโครงการนี้ ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ กคช.ยิ่งต้องเร่งเคลียร์"บ้านเอื้ออาทร"ให้จบโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว ต้องรีบขายออกให้ได้มากที่สุด

เป้าขาย 7หมื่นหน่วยตัดขาดทุน

การปรับตัวหลักๆ ของกคช.ในปี 2552 นี้ จึงให้น้ำหนักเรื่องการตลาดมาเป็นอันดับแรก ทำให้กคช.ออกตัวแรง ในด้านการตลาดด้วยการจัดกิจกรรมขายบ้านเอื้ออาทร อย่างจริงจังตังแต่ต้นปี

นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าปีนี้จะเป็นปีที่กคช.เน้นหนักทำการตลาดเชิงรุกอย่างจริงจัง ยืนยันคำกล่าวนี้ ด้วยกิจกรรมที่วางไว้ตลอดทั้งปี เพื่อเร่งขายบ้านเอื้ออาทร ที่เป็นสต็อกตกค้างในมือออกไปให้เร็วที่สุด

จากจำนวนบ้านเอื้ออาทร ที่สร้างเสร็จพร้อมโอนพร้อมเข้าอยู่ ซึ่งมียอดเหลือตกค้างต้นปี 2552 กว่า 4 หมื่นยูนิต ผู้บริหารกคช.เผยว่า ประเดิมแผนเร่งระบายสต็อกบ้านเอื้ออาทร ด้วยการจัดงาน "ตลาดนัดบ้านเอื้อาทร" ครั้งแรกของปีนี้ ขึ้นวันที่ 6 - 15 ก.พ.2552 ผลการทำตลาดงานแรกพบว่า 6 วัน สามารถขายได้กว่า 5,000 หน่วย โครงการที่ได้รับความนิยมสูง เช่น บ้านเอื้ออาทรรามอินทรา(คู้บอน), ร่มเกล้า 2 ระยะ 2, บางเขน (คลองถนน), พุทธมณฑลสาย 4 (นครชื่นชุ่ม) ฯลฯ

นอกจากการจัดงานตลาดนัดบ้านเอื้ออาทร ซึ่งมีการปรับเงื่อนไขให้ซื้อได้ง่ายขึ้น เช่น จากเงินจอง 6,00 บาท ปรับลดเหลือเพียง 3,000 บาท และยังมีการผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นๆ ในการซื้อด้วย

การผ่อนเกณฑ์การขาย เป็นส่วนหนึ่งของแผนเร่งระบายบ้านเอื้อ ซึ่งนายศิริโรจน์ ย้ำว่า ได้ลดระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ ลงไปมาก กำหนดเพียงเงื่อนไขหลัก คือผู้ซื้อต้องมีรายได้ไม่เกิน 3 หมืนบาท/เดือน ใช้แค่บัตรประชาชนเท่านั้นในการจองซื้อ ตัดเงื่อนไขเรื่องการมีที่ดิน มีบ้านเป็นของตัวเองแล้วซื้อไม่ได้ออกไป โดยทุกคนที่รายได้เข้าเกณฑ์สามารถซื้อได้ เรียกว่าตัดเงื่อนไขอุปสรรคออกไปเกือบหมด

ผู้บริหารกคช. เผยด้วยว่า เป้าหมายปีนี้ จะต้องขายบ้านเอื้ออาทร ออกไปให้ได้ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นหน่วย เพื่อรับรู้รายได้เข้ามาชดเชยภาวะขาดทุน และทยอยแก้ปัญหาหนี้สิน ที่เป็นภาระตกค้างมาจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเขายอมรับว่า การทำตลาดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่ง่ายเช่นกัน

ดันเช่าซื้อแก้ปมกู้ไม่ผ่าน 50%

อย่างไรก็ดี ปัญหาของบ้านเอื้ออาทร ไม่ได้มีเฉพาะการขายที่เดินหน้าไปอย่างล่าช้าเท่านั้น แต่อุปสรรคใหญ่อีกประการ คือ การที่ลูกค้าขอสินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งผู้ช่วยผู่ว่าฯกคช. เผยว่า โดยสถิติที่ผ่านมา ผู้ซื้อบ้านเอื้ออาทรขอสินเชื่อไม่ผ่านถึง 50% ส่วนใหญ่ติดปัญหา 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.ติดเครดิตบูโร เนื่องจากมีหนี้ค้างบัตรเครดิต และผิดนัดชำระหนี้

2.ไม่ติดบูโรแต่เป็นกลุ่มที่มีภาระค่าใช้จ่ายมาก แม้จะมีรายได้ถึง 3 หมื่นบาท แต่คำนวณแล้วรายได้สูง เงินทีเหลือไม่ได้ตามเกณฑ์คือ 3 เท่าของค่างวดที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน เช่นภาระต่องวดที่ 2,400 บาท ต้องเหลือวงเงินรายได้ต่อเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วไม่น้อยกว่า 8,000 บาท หากไม่ถึงก็ไม่ได้รับการอนุมัติ และ 3.ปัญหาที่เอกสารยืนยันรายได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่ค้า รับจ้างทั่วไป เช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

โดยปกติลูกค้าที่กคช.ส่งไปยื่นขอสินเชื่อ กับ 2 ธนาคารหลัก คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารออมสิน เมื่อถูกตีกลับเพราะขอสินเชื่อไม่ผ่านแล้ว กคช.จะมาทบทวนว่าสามารถปรับเป็นสัญญาเช่าซื้อได้หรือไม่ หากเป็นลูกค้าที่กคช.พอรับได้ก็จะปรับให้ ส่วนใหญ่ทำได้ราว 10% เท่านั้น ของจำนวนที่ตีกลับ 50% เพราะกคช.เองก็ต้องไม่เสี่ยงเช่นกัน

นอกจากนี้ การทำเช่าซื้อก็มีข้อจำกัด เพราะจะทำให้กคช.ไม่สามารถรับรู้รายได้ได้ เนื่องจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต้องมียอดจ่าย 20% จึงรับรู้รายได้ได้ ดังนั้นบางโครงการที่ขายไปมากแล้วก็จะไม่ให้ทำเช่าซื้อ เพราะต้องการรับรู้รายได้โดยเร็ว ซึ่งกคช.ได้จัดกลุ่มโครงการเหล่านี้ไว้ 3 โซนคือ สีเขียว กลุ่มขายแล้ว 80% จะไม่ทำเช่าซื้อรอขาย 1.2 หมื่นยูนิต โซนสีเหลือ ขายแล้ว 60-80% รอขาย 1 หมื่นยูนิต ยอมให้ทำเช่าซื้อบางส่วน และกลุ่มสีแดง ยอดขาย 20-60% รอขายกว่า 1.8 หมื่นยูนิต ยอมให้ทำเช่าซื้อบางส่วน

โดย กรุงเทพธุรกิจ 11-03-52

0 ความคิดเห็น: