ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
6 มีนาคม 2552

บสท.แจงพิษเศรษฐกิจ ฉุดทรัพย์เอ็นพีเอขายยากเหตุคนซื้อลังเล วางเป้ายอดขายปีนี้ 9.4 พันล้านบาท พร้อมลุยโรดโชว์กระตุ้นยอด นำร่องขนทรัพย์แหล่งธุรกิจ-ท่องเที่ยวกว่า 4 พันล้านบาทออกขาย เร่งบังคับคดีที่ดินเกือบ 50 ไร่จากยูนิเวสท์ จับตากลุ่มทุนเก่าเล็งช้อนซื้อของถูก "เตชะอุบล" คัมแบ็คเตรียมหมื่นล้านบาท ลงทุน "ปิยะสมบัติ" ลุยซื้อหลายอาคารกลางกรุง เผยมีทรัพย์เสนอขายเพิ่มกว่า 40%

นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กล่าวว่า บสท.ตั้งเป้ายอดขายสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ในปี 2552 กว่า 9,400 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วที่มียอดขาย 10,548 ล้านบาท และมียอดรับชำระเงินจากการปรับโครงสร้างหนี้รวม 17,375 ล้านบาท เหตุผลที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้คาดว่าการขายเอ็นพีเอปีนี้ จะเป็นไปได้ยากกว่าปีก่อน อีกทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ

อย่างไรก็ดี เชื่อว่ายังมีนักลงทุนในประเทศกลุ่มหนึ่ง ที่มีเงินและสนใจลงทุนระยะยาวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจมีการโยกเงินออมอัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่คาดกันว่าอาจต่ำถึง 0% อีกทั้ง การลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดทองคำ มีความเสี่ยงสูงราคาซื้อขายผันผวน การเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ น่าจะเป็นการรักษามูลค่าของเงินที่มีอยู่ได้ดีที่สุด

บสท.มีสินทรัพย์รอการขายรวม 6,000 รายการ มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท และยังมีทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบังคับคดีอีก 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะซื้อทรัพย์จากกรมบังคับคดีในปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือ 1 หมื่นล้านบาทจะซื้อในปี 2553 ซึ่งจะทำให้มีทรัพย์สินรวมเป็น 1.1 แสนล้านบาท และในปีนี้ บสท.จะพยายามยึดทรัพย์ผ่านการบังคับคดี ในทรัพย์ที่ปัญหามาเข้าพอร์ตให้ได้

นายเชาวรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บสท.พบปัญหาลูกหนี้บางราย อาศัยเทคนิคด้านกฎหมายช่วย ทั้งที่ศาลสั่งให้ล้มละลายแล้ว หลังจากที่มีมูลหนี้มากกว่ามูลค่าทรัพย์สิน เช่น บริษัท ยูนิเวสท์ กรุ๊ป ที่ผู้บริหารใช้กระบวนการทางศาลให้ชะลอการขายทรัพย์ คือ ที่ดิน 47 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ที่เดิมมีแผนจะขึ้นโครงการบางกอกโดม โดยขณะนี้ บสท.กำลังเร่งรัดบังคับคดี มูลค่าทรัพย์ 3,000 ล้านบาท จากมูลหนี้ยูนิเวสท์ฯ ที่อยู่ในหลักหมื่นล้านบาท

ขนที่ดินแปลงงามค่า 4 พันล.ออกขาย

จำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่ในพอร์ต บสท.จะมีการทบทวนการกำหนดราคาขายทรัพย์สิน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคทุกๆ 6 เดือน และราคาทรัพย์เอ็นพีเอ ที่เสนอขายนั้นสูงกว่าราคาที่ประกาศเบื้องต้นราว 20%

บสท.จะเน้นกลยุทธ์การตลาดมากขึ้น โดยวางแผนจัดโรดโชว์ 10-11 ครั้ง มีทั้ง บสท.จัดเอง และรวมออกบูธกับสมาคมธนาคารไทย โดยได้จัดแคมเปญ "ที่ดินผืนงาม สวย ครบ คุ้ม ทุกทำเล" ขึ้น จะขายทรัพย์สินขนาดใหญ่ทำเลที่ดินสวยมูลค่า 4,000 ล้านบาท เป็นที่ดินเปล่าในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ที่ดินเปล่ากว่า 39 ไร่ ริมทะเลหัวหิน สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์, ที่ดินเปล่ากว่า 50 ไร่ 5 รายการริมถนนมิตรภาพ ใกล้ด่านเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

นอกจากนี้ยังมีที่ดินริมทะเล 1,610 ไร่ 7 รายการ บนเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา ซึ่งบางแปลงบังคับคดีมาจากกลุ่มวาเลนติโน กลุ่มทุนในคดีฟอกเงินที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าดำเนินการ โดยที่ดินบนเกาะยาวใหญ่ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้ประมูลขายไปแล้ว 100 ไร่ๆ ละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาทให้กลุ่มทุนรายหนึ่ง

กลุ่มทุนเก่าส่งทายาทไล่ซื้อของถูก


นอกจากนี้ ได้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่เข้ามาซื้อทรัพย์ทั้งที่เป็นที่ดินเปล่าจาก บสท. เพื่อนำไปพัฒนาแต่มีกลุ่มทุนที่มีความพร้อมด้านการเงิน และมีเครดิตดี กับสถาบันการเงินเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างค้างไปพัฒนา เช่น โครงการ โกลเด้นท์เกรท เป็นอาคารชุดพักอาศัย บริเวณราชปรารภ ประตูน้ำ เป็นอาคารสูง 18 ชั้น บนเนื้อที่ 4 ไร่ นั้นมีผู้ซื้อจาก บสท.ไปแล้วในราคา 803 ล้านบาท

นายปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก โดยโครงการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ โครงการที่อิงลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งมีอีกหลายบริษัทที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการลดขนาดองค์กร หรือไม่ก็ตัดขายทรัพย์สินในบางรายการออกไป

ภายใต้ภาวะที่ต้องการความเชื่อมั่น มี 3 แนวทางที่ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ

1.ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่น ว่าสถานะของธุรกิจของบริษัทมีความมั่นคง

2.หากโครงการใดกำลังเผชิญปัญหาที่ลูกค้าผ่อนดาวน์ไม่ไหว หรือกำลังจะหยุดผ่อนค่างวดต่อ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อม ด้วยการกันสำรองทุนเพื่อซื้อกลับ วิธีการนี้เป็นทางออกที่รักษาราคาไม่ให้ตก

3.เมื่อซื้อจากลูกค้ากลับเข้ามาแล้ว จะต้องวางแผนการขายในหน่วยๆ นั้นอย่างเป็นระบบ หาลูกค้ามาสำรอง ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การไปร่วมมือกับสถาบันการเงิน จับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ พร้อมจัดแพ็คเกจดอกเบี้ยพิเศษเข้ามาเสริม

"เตชะอุบล" รุกเงียบกำหมื่นล.พร้อมซื้อ

นายปฏิมา ยังกล่าวว่า นับจากนี้ไป จะมีกลุ่มทุนเก่าที่ได้เก็บตัวเงียบจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้หวนกับเข้าสู่ธุรกิจใหม่อีกครั้ง การเข้ามาครั้งนี้มีทั้งการเข้าไปซื้อทรัพย์สิน และการเข้าไปซื้อหุ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้นตกต่ำ ทุนเก่ากลุ่มนี้ จะดำเนินการภายใต้ทายาท ที่ขณะนี้พบว่า มีหลายกลุ่มกำลังจับมือกันทำธุรกิจ ขณะเดียวกันจะมีกลุ่มทุนจากอุตสาหกรรมอื่นๆ โดดเข้ามาซื้ออสังหาฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงรายได้เพิ่มขึ้น

ดังเช่นล่าสุด "กลุ่มเตชะอุบล" รุกคืบธุรกิจอย่างเงียบ จากข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ได้ซื้อหุ้นบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จาก ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เจซี แอสเซท ประมาณ 132.35 ล้านหุ้น คิดเป็น 20.76% มูลค่า 72.79 ล้านบาท ส่งผลเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 หวังต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทมีนโยบายการลงทุนของกลุ่มนั้น จะเน้นลงทุนระยะยาว โดยการเข้าไปซื้อกิจการ บริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อที่จะทำธุรกิจในการสร้างคอนโดมิเนียม ขนาด 1,000 ยูนิต ราคา 1-3 ล้านบาท

สำหรับกลุ่ม เตชะอุบล ในปีนี้ที่จะใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนมากที่สุดตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจาก มองว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน และให้ผลตอบแทนการลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น

“ปิยะสมบัติ” ลุยอสังหาฯ เต็มสูบ

นอกจากนี้ยังมี เครือปิยะสมบัติ กรุ๊ป ซึ่งพื้นฐานธุรกิจเดิมส่งออกไม้อัดเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย ได้วางแผนรุกอสังหาฯ เต็มที่อีกครั้ง หลังจากที่ได้เข้ามาชิมลางธุรกิจนี้ ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจรอบก่อนรวมทั้งสิ้น 11 อาคาร ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และอาคารสำนักงาน เนื่องจากมองว่าการดำเนินธุรกิจดังกล่าว สร้างรายได้ระยะยาวให้แก่บริษัท อีกทั้งสามารถนำทรัพย์สินในบางรายการ เข้าระดมทุนผ่านการจัดตั้งพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ได้ในอนาคต ซึ่งรูปแบบการดำเนินการ นอกจากจะช่วยเสริมเรื่องเงินทุนแล้ว ยังได้สิทธิการถือหุ้นด้วย

นางสาวเยาวลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิยะสมบัติ แอสเซท กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีผู้ที่นำเอาทรัพย์สินทั้งที่ดินเปล่าและอาคารที่พร้อมปรับ ปรุงสร้างรายได้ทันที เข้ามาเสนอขายเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนหน้านี้ 40% ทรัพย์ที่นำมาเสนอขายเหล่านี้ ทั้งจากเจ้าของโดยตรง และทรัพย์ที่เป็นเอ็นพีเอ

ล่าสุดทางกลุ่มได้ซื้ออาคารยูนิโก้เฮ้าส์ หลังสวน จากกลุ่ม จันทร์ศรีชวาลา แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ปิยะเพลส หลังสวน" พื้นที่รวม 1.2 หมื่นตร.ม. นอกจากนี้ ยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 2-3 แปลงย่าน ย่านวิทยุ สุขุมวิท และ ซ.สวนพลู ซึ่งเป็นที่ดินเปล่า 659 ตร.ว. เป็นที่ตั้งของปั๊มน้ำมันเชลล์ในปัจจุบัน

ที่ดินทั้งหมดนี้ จะเริ่มทยอยพัฒนาเพื่อรองรับกับการวางแผนการสร้างรายได้ระยะยาว และถึงแม้ในขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการลงทุนของกลุ่ม ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่จะซื้อที่ดินได้ในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันการลงมือก่อสร้างในปีนี้ จะได้ต้นทุนการก่อสร้างที่ถูก
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยูนิเวนเจอร์ ที่ได้ตั้งงบลงทุนไว้ 4,500 ล้านบาท สำหรับซื้อทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาทางการเงินมาพัฒนา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 05-03-52

0 ความคิดเห็น: