ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
12 กุมภาพันธ์ 2552

คณะรัฐมนตรี มีมติวานนี้ (10 ก.พ.) เห็นชอบหลักการพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่...) พ.ศ..ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ มีสาระสำคัญดังนี้

การ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินโดยสาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ มาตรา 3 ให้ยกเลิกความมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมชลประทาน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหกคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง การบริหารชุมชน หรือกฎหมาย เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้แทนภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่น้อยกว่ากึ่ง หนึ่ง"

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 13 โดยให้มีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดทุกจังหวัดดังนี้ (1) ในกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ทรงคุณวุฒิอีกสี่คน ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งเป็นกรรมการ และผู้แทนกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ

(2) ในจังหวัดอื่น ให้มีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด ปลัดจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้แทนกรมชลประทาน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิอีกสี่คน ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งเป็นกรรมการ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 5 แก้ไขมาตรา 28 ระบุว่า เมื่อได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดินแล้ว ให้คณะกรรมการรีบส่งใบอนุญาตพร้อมทั้งแผนผัง โครงการ และวิธีการที่คณะกรรมการอนุญาตไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องที่จัดสรรนั้น เพื่อให้จดแจ้งในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และเมื่อได้โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่แบ่งแยกเป็นแปลง ย่อยแล้ว ให้จดแจ้งไว้ในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แบ่งแยกทุกฉบับ สำหรับที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคหรือที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะให้จดแจ้งด้วย ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภค หรือใช้เพื่อบริการสาธารณะ

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นมาตรา 41/1 การโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค หรือที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ผู้รับโอนจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อ ที่ดินจัดสรร

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 44 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษา สาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลำดับดังต่อไปนี้

(1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามพระราชบัญญัตินี้ หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการและดูแล บำรุงรักษา ภายในเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนด ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน หรือในกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลง ย่อย ตามแผนผังโครงการ ได้แจ้งให้ผู้จัดสรรที่ดินทราบว่า ประสงค์จะจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เพื่อรับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคไปจัดการและดูแลบำรุงรักษา และได้มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว

(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าว ให้เป็นสาธารณประโยชน์

การดำเนินการตามความในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด ทั้งนี้ การดำเนินการตาม (1) ต้องกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบจำนวนเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ส่วนหนึ่งด้วย

เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาจดทะเบียน จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม (1) แล้วให้ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคตกเป็นของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โดยให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งในโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากไม่ได้โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาให้ถือว่าสูญหาย และให้เจ้าหน้าที่ออกใบแทน เพื่อดำเนินการดังกล่าวต่อไป

มาตรา 8 ยกเลิกความในวรรคสองมาตรา 50 โดยแก้เป็น ผู้ที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงรักษา และการจัดการสาธารณูปโภค ตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปอาจจะถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิใน สาธารณูปโภค

กรณีที่ค้างชำระตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจระงับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรรของ ผู้ค้างชำระ จนกว่าจะชำระให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11-02-09

0 ความคิดเห็น: