ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
27 มกราคม 2552

เมื่อกล่าวถึงภาษีมรดก คงจะทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกที่ว่า “การเก็บภาษีมรดกจะเป็นการชอบธรรมหรือไม่” เรื่องนี้เป็นข้อน่าคิดมาก และ ก็เป็นปัญหาที่ไม่ใช่แต่เพียงเกิดขึ้นในบ้านเรา แม้ในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีมรดก ก็เป็นปัญหาที่ยังโต้เถียงกันอยู่และ ยังไม่ยุติจนถึงปัจจุบันนี้

ข้อพิจารณา
1.พิจารณาในแง่การคลัง การเก็บภาษีมรดกของผู้เสียภาษีไม่อาจที่จะผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ เพราะผู้เสียภาษีมรดกจะเป็นผู้รับภาระในชั้นที่สุดเสมอ จึงย่อมเป็นความชอบธรรมในการเก็บภาษี
และโดยเฉพาะเมื่อได้พิจารณาถึงระบบการเก็บภาษีของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า การเก็บภาษีทางอ้อมนั้น มีอัตราสูงถึง 80% เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีทางตรงที่มีเพียง 20% แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคนจน และผู้มีฐานะปานกลางจะต้องรับการผลักภาระเสมอไป ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ในชั้นสุดท้ายเสมอไป เพราะมนุษย์เราจำเป็นต้องบริโภค
แต่การเรียกเก็บภาษีมรดกนั้น รัฐย่อมรู้ได้แน่นอนว่าใครบ้างเป็นผู้เสียภาษี จึงทำให้การเก็บภาษีในลักษณะนี้ได้สะดวก และถ้ารัฐได้วางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้รัดกุมดีแล้ว นอกจากจะเป็นการสะดวกในการเก็บภาษีแล้ว ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บน้อยลงด้วย

2.วิธีเก็บภาษีมรดก ประเทศที่มีการเก็บภาษีมรดก เช่น ประเทศในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน จะมีวิธีเก็บภาษีมรดกอยู่ 2 วิธี คือ
หนึ่ง การเก็บภาษีในค่าแห่งทรัพย์ที่ผู้ตายมีอยู่ทั้งหมด กล่าวคือเป็นการเรียกเก็บในกองมรดกก่อนที่จะมีการแบ่งให้แก่ทายาท
สอง การเรียกเก็บจากตัวทายาทตามส่วนที่ทายาทแต่ละคนจะได้รับมา
ในทางปฏิบัติ ประเทศต่างๆ ที่มีการเก็บภาษีมรดกจะใช้วิธีแตกต่างกัน บางประเทศก็เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว บางประเทศก็ใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นการเก็บจากกองมรดกจะเป็นการเก็บจากผู้ตายก่อนที่จะมีการแบ่งออกเป็น ส่วนๆ แต่ถ้าเป็นการเก็บจากผู้รับมรดก ก็เสมือนเป็นการเก็บรายได้ที่เพิ่มพูนของทายาทขึ้นมา แต่รายได้ในลักษณะดังกล่าวนี้ มิใช่เป็นการได้มาจากการใช้ความสามารถหรือแรงงานหรือปัญญาของเขา เช่น เจ้าของมรดกผู้ตายแต่อย่างไร

3.อัตราการเก็บและข้อมูลบางประการที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบ
การเก็บภาษีมรดกไม่ว่าจะเป็นวิธีเก็บจากกองมรดก หรือจากผู้รับมรดก ย่อมมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งว่า เพื่อแก้ไขความไม่เสมอภาคในสังคมโดยเฉพาะในเรื่องภาระที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยง ได้จากภาษีทางอ้อม เพราะภาษีมรดกจะตกเป็นภาระแก่ผู้มีทรัพย์มรดกก็ต่อเมื่อกองมรดกนั้นมีจำนวน “ถึงขนาด” ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น
ฉะนั้นวิธีการเก็บที่เป็นธรรม จะต้องเรียกเก็บในลักษณะที่เรียกว่า “อัตราก้าวหน้า” กล่าวคือเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่เกินตามอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ โดยแบ่งเป็นขั้นๆ ไป และจะต้องคำนึงถึงเหตุประกอบที่สำคัญบางประการ เพื่อคำนวณในการหักหรือลดหย่อน หรือเพิ่มหรือลดอัตราการเก็บอันอาจจะได้แก่เหตุดังต่อไปนี้
1) อายุของทายาท
2) ความเป็นญาติสนิทหรือห่างออกไป
3) หนี้สินของผู้ตาย
4) ความแตกต่างในการเรียกเก็บระหว่างอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์บางอย่าง
5) ได้มีการเรียกเก็บภาษีมรดกมาจากทรัพย์สินเดียวกันกี่ครั้งแล้ว
6) มาตรการสำหรับการหลีกเลี่ยงโดยการโอนไปก่อนตาย
ฯลฯ

ภาษีมรดกของประเทศไทย
ประเทศไทยได้เคยมีการเก็บภาษีมรดกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยนั้นเรียกว่า “อากรมรดก” เหตุผลที่เรียกเก็บนั้น นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามาก คือเรียกเก็บเฉพาะ “ทรัพย์สมบัติที่เกินกำลังของทายาทที่ใช้สอยให้ตกเป็นของหลวงทั้งหมด”
การเก็บภาษีมรดกยังมีปรากฏต่อมาในกฎหมายเก่าที่เรียกกันว่ากฎหมายมรดก ในบทที่ 13 กล่าวคือ มรดกชายมีบรรดาศักดิ์ให้แบ่งเป็น 4 ภาคเท่าๆ กัน คือภาคหลวงหนึ่ง ภาคบิดามารดาหนึ่ง ภาคภรรยาหนึ่ง และภาคญาติหนึ่ง
ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจของประเทศสยาม” ในเค้าโครงดังกล่าวได้เสนอถึงวิธีจัดหาทุนโดยให้มีการเก็บภาษีมรดกไว้ด้วย
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2476 รัฐบาลในสมัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรได้ตรา พระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก พ.ศ.2476 ขึ้นมาใช้บังคับ
แต่ต่อมากฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2487 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญบางประการของพระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก พ.ศ.2476 มีดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ใช้วิธีการเก็บภาษีมรดกทั้งสองวิธีรวมกัน คือ อากรมรดก เก็บจากกองมรดก, อากรรับมรดก เรียกเก็บจากผู้รับมรดก
2. ทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมีเกณฑ์ดังนี้
- ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในประเทศไทย
- บรรดาทรัพย์สินที่ผู้ตายได้มีการโอนให้แก่บุคคลอื่นในเวลาหนึ่งปีก่อนตาย ให้เสียภาษีมรดกเช่นเดียวกัน
- การตีราคา ให้ตีตามราคาตลาดในเวลาที่เจ้ามรดกตาย แต่ให้มีการคัดค้านและอุทธรณ์ได้
3. อัตราการเก็บ ใช้วิธีเก็บในอัตราก้าวหน้า กล่าวคือกองมรดกหรือผู้รับมรดกที่มีวงเงินสุทธิไม่เกิน 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากรมรดก หรืออากรรับมรดก จะต้องเสียเฉพาะส่วนที่เกินตามอัตราซึ่งได้มีการกำหนดไว้เป็นขั้นๆ
4.ในความเป็นญาติ ได้มีการแบ่งอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงลดหลั่นกันระหว่างความเป็นญาติสนิทและญาติที่ห่างออกไป

บทสรุป
สังคมใดที่มีความเหลื่อมล้ำหรือมีช่องว่างในทางเศรษฐกิจที่ห่างกัน มากระหว่างความ “มี” กับ “จน” ถ้าจะนำกฎหมายมาใช้ให้ผสานกับสภาพสังคมดังกล่าวแล้ว ถ้าเราใช้กฎหมายในลักษณะที่เท่าเทียมกันต่อบุคคลทุกคนตามลักษณะของกฎหมาย ทั่วๆ ไปที่เรายึดถือปฏิบัติอยู่ ก็ไม่อาจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้
การใช้กฎหมายทางสังคมบางลักษณะเพื่อมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวความคิดในการ “สร้าง” และ “ใช้” กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็เกือบจะเท่าเทียมกัน หรือในที่สุดหรืออย่างน้อยก็เพียงขอให้พอมีพอกินตามอัตภาพ
กฎหมายในลักษณะดังกล่าวนี้ นอกจากกฎหมายในเรื่องภาษีมรดกแล้วยังอาจจะได้แก่กฎหมายคุ้มครองสถานะทาง เศรษฐกิจและสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น มีรายได้ต่ำ เป็นผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร หรือชาวนา เป็นต้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 27 มกราคม 2552

0 ความคิดเห็น: