ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
24 มกราคม 2552

“อีไอเอผ่านแล้ว” นี่อาจจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการโปรโมต โครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะปัจจุบันทุกโครงการที่เข้าข่ายมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัด ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งไม่เพียงมีการนำเสนอแนวทางการลดผลกระทบจากโครงการตั้งแต่ก่อสร้างจน เสร็จสมบูรณ์และมีผู้พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ผู้พักอาศัยจะได้รับเมื่อเข้ามาอยู่อาศัยด้วย

“ปัจจุบันนี้มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมหลายโครงการ มักจะอ้างว่าติดปัญหาการทำอีไอเอ จึงไม่สามารถโอนให้กับผู้ซื้อได้ ซึ่งความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่การทำงานของเรา” วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สผ. ระบุ

ตามปกติเมื่อจะมีโครงการใด ๆ เกิดขึ้น จะต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเริ่มดำเนิน โครงการต่อไป และเมื่อเจ้าของโครงการยื่นเรื่องเข้ามาให้ทาง สผ.พิจารณาตามกฎหมายการตัดสินว่าจะให้ความเห็นชอบตามที่เสนอมาหรือไม่นั้น จะต้องทำให้เสร็จภายใน 75 วันสำหรับการยื่นครั้งแรก ขณะที่การยื่นแบบแก้ไขครั้งที่ 2 จะมีเงื่อนระยะเวลาในการพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ซึ่งหากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาไม่เสร็จ อีไอเอของโครงการนั้น ๆ จะผ่านการพิจารณาโดยอัตโนมัติทันที

“สผ.พยายามที่จะพิจารณาอีไอเอของโครงการต่าง ๆ ให้เร็วที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากมักจะเสร็จก่อนที่จะสิ้นสุดกำหนดเวลา แต่บางโครงการที่ล่าช้าเป็นเพราะเมื่อถูกตีกลับเพื่อให้แก้ไขมาตรการเพิ่ม เติมแล้ว กว่าที่บริษัทเจ้าของโครงการจะส่งรายงานกลับมาอีกทีบางครั้งอาจหายไป 3-4 เดือน”

ขณะที่บางโครงการซึ่งมีเจตนาจะอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า หากเป็นโครงการคอนโดมิเนียมขนาด 80 ห้องขึ้นไปจะต้องมีการทำอีไอเอ จึงมีการลดจำนวนห้องแต่ขยายพื้นที่ของแต่ละยูนิตแทน ก่อนจะมีการแบ่งห้องเพิ่มเติมในภายหลัง นั่นจึงทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

เพราะเมื่อมีจำนวน 80 ห้องขึ้นไป แม้โครงการจะมีการก่อสร้างไปแล้วก็ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมอยู่ดี บางโครงการจึงต้องระงับการก่อสร้างชั่วคราวอันเนื่องมาจากอีไอเอ หรือก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถโอนให้กับผู้ซื้อได้

“โครงการที่มีการขยายในภายหลังแล้วเสนออีไอเอมาไม่ผ่าน เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิคบางอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้ อย่างถนน หากโครงการใหญ่ขึ้นก็ต้องกว้างกว่า 8 เมตร แต่พื้นที่โครงการกลับมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายได้จึงทำให้โครงการนั้น ๆ ต้องติดค้างอยู่ต่อไป”

ในปี 2551 ที่ผ่านมามีโครงการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่ส่งเรื่องเข้ามา เพื่อขอการรับรองอีไอเอถึง 289 โครงการ แต่กลับมีโครงการที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ จนได้รับความเห็นชอบในมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพียง 79 โครงการ หรือประมาณร้อยละ 36 เท่านั้น

ขณะที่ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใหม่ ว่าด้วยเรื่องการกำหนดประเภทและขนาดของอาคาร ที่ต้องจัดทำอีไอเอเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของกฎหมายที่มีอยู่กำลังจะมีการประกาศ ใช้

โดยต่อไปอาคารที่พักอาศัยและอาคารบริการสาธารณะ นอกจากจะมีจำนวนหน่วยตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไปที่ต้องทำอีไอเอแล้ว หากจำนวนห้องไม่ถึงแต่มีขนาดพื้นที่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไปก็เลี่ยงที่จะไม่ทำอีไอเอไม่ได้ รวมถึงอาคารที่สูงเกิน 23 เมตรทุกพื้นที่ก็ต้องทำอีไอเอ เช่นเดียวกับโครงการบ้านจัดสรรที่มีการลดจำนวนลงเหลือแค่ 250 แปลง หรือพื้นที่เกินกว่า 100 ไร่ก็อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำ

นอกจาก สผ.จะเป็นหน่วยงานที่ต้องรับเรื่องและจัดประชุมคณะกรรมการชำนาญการซึ่ง ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกรมโยธาฯ กทม. กรมที่ดิน ฯลฯ แล้ว นโยบายก้าวใหม่อีไอเอที่ สผ.กำลังดำเนินการซึ่งประกอบด้วย 4 พ คือ เพิ่มความเร็ว เพิ่มคุณภาพ เพิ่มความโปร่งใส และเพิ่มความรับผิดชอบ ก็จะช่วยให้ขั้นตอนการพิจารณามีความรวดเร็วมากกว่าเดิม

และต่อไปหากผู้ซื้อรายใดต้องการทราบว่าโครงการที่กำลังเล็งอยู่อีไอเอผ่าน หรือยัง ก็สามารถเข้าไปเช็กได้จากเว็บไซต์ www.onep.go.th/eia ที่จะอัพเดทข้อมูลในวันรุ่งขึ้นหลังจากการประชุมพิจารณาเสร็จสิ้น.

ที่มา : เดลินิวส์ 24 มกราคม 2552

0 ความคิดเห็น: