การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์และแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์
ความหมาย
ที่สาธารณประโยชน์ หมายถึง ที่ดินที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ วรรคสอง ซึ่งมีที่มาหรือบ่อเกิดแห่งที่สาธารณประโยชน์ได้ ๓ ประการ คือ
๑) เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น
๒) เกิดขึ้นโดยสภาพการใช้ เช่น ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะ หนองน้ำสาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ เป็นต้น
๓) เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เช่น การสงวนหวงห้ามตามกฎหมาย การอุทิศให้เป็นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยาย การยกให้หรือซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
ประเภทการจดทะเบียน
๑. โอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ หมายถึง กรณีที่ผู้มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ขอจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งแปลงให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
๒. แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ หมายถึง กรณีที่ผู้มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ขอโอนที่ดินเพียงบางส่วนไม่เต็มทั้งแปลงให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมีการรังวัดกันส่วนที่ประสงค์จะโอนให้เป็นที่สาธารณะออกจากหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
วิธีดำเนินการ
๑. การขอจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์
- ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ ท.ด.๙ และ ท.ด.๑ โดย ท.ด.๑ เป็นรายงานการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนสอบสวนและดำเนินการตามระเบียบ
๒. การขอแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์
- ผู้ขอยื่นคำขอแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามแบบพิมพ์ ท.ด.๙ แล้ว ส่งเรื่องให้ฝ่ายรังวัดดำเนินการ
- เมื่อฝ่ายรังวัดดำเนินการเสร็จแล้ว จะส่งเรื่องคืนฝ่ายทะเบียนเพื่อแจ้งผู้ขอมาดำเนินการจดทะเบียน
- ในวันที่ผู้ขอมาจดทะเบียน ให้ยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ ท.ด.๑ สอบสวน และดำเนินการตามระเบียบ
ค่าธรรมเนียม
๑. การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือการจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ มีค่าตอบแทน เรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ ๒ ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๖๑๒/๑/ว ๘๗๒๓ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙
๒. การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือการจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องให้ทางราชการปฏิบัติตอบแทนแล้วย่อมได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนตามมาตรา ๑๐๓ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการรังวัดแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดด้วย (ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๖๑๒/๑/ว ๑๐๕๑๕ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒)
กรณีการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.๒๔๘๕ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วว่า ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว หมายความถึงค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม ข้อ ๒ (๗) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒ (พ.ศ.๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ (ปัจจุบันคือ ข้อ ๒ (๗) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗) เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงค่าธรรมเนียมในขั้นตอนก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย เวียนให้ทราบตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๑๒/ว ๑๑๖๗๗ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๔
ค่าอากรแสตมป์
- การให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร ๒๘ (ข.) แห่งอัตราอากรแสตมป์และมาตรา ๑๐๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียค่าอากรแสตมป์จากทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดมากกว่า (หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๕๑๕/ว ๑๕๐๓๕ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗)
- กรณีการแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกรมสรรพากร จึงยังไม่ต้องเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด
ที่มา : กรมที่ดิน
ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com
...
Home
»
»Unlabelled
» การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์
30 ตุลาคม 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น