ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
19 ตุลาคม 2551

ความหมาย
การจดทะเบียนโอนมรดก หมายถึง การจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยหลักกฎหมายมรดกที่รับรองให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้ตายตกแก่ทายาท และทายาทมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกนั้นทันทีที่เจ้ามรดกตาย
การจดทะเบียนโอนมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดินสามารถดำเนินการได้ ๒ วิธี คือ
๑. การจดทะเบียนโอนมรดกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
๒. การจดทะเบียนโอนมรดกตามมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
ประเภทการจดทะเบียน
๑. การจดทะเบียนโอนมรดกตามมาตรา ๘๑ แห่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน หรือเป็นการโอนมรดกโดยจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกแล้วโอนมรดกให้แก่ทายาทตามมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่ว่าผู้รับมรดกจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือเป็นทายาทโดยพินัยกรรม ก็ใช้ประเภทการจดทะเบียนเช่นเดียวกัน ดังนี้
- โอนมรดก หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ทุกคนต้องถึงแก่กรรม ผู้รับมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ผู้รับมรดกต้องรับมรดกของผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนไปพร้อมกันทั้งแปลง
- โอนมรดกบางส่วน หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ทุกคนต้องถึงแก่กรรม ผู้รับมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ผู้รับมรดกต้องรับมรดกของผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนไปพร้อมกันแต่รับไปเพียงบางส่วนไม่หมดทั้งแปลง ยังคงมีส่วนที่เหลืออยู่อีก
- โอนมรดกเฉพาะส่วน หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคนถึงแก่กรรม หรือทุกคนถึงแก่กรรมหมด ผู้รับมรดกรับมรดกไปเฉพาะส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคนทั้งหมด ผู้รับมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
- โอนมรดกเฉพาะส่วนเพียงบางส่วน หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคนถึงแก่กรรม หรือทุกคนถึงแก่กรรมหมด ผู้รับมรดกรับมรดกเฉพาะส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคนไปเพียงบางส่วน ยังคงมีส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นเหลืออยู่อีก ซึ่งผู้รับมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
- การแบ่งโอนมรดก หมายความว่า กรณีที่ผู้จัดการมรดกที่มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินก่อน แล้วขอแบ่งแยกที่ดินและโอนมรดกให้แก่ทายาท โดยโฉนดใหม่ออกเป็นชื่อของทายาทผู้รับมรดก
- การโอนมรดกสิทธิการไถ่ โอนมรดกสิทธิการรับจำนอง โอนมรดกสิทธิเหนือพื้นดิน ฯลฯ หมายความว่า เป็นการโอนมรดกในกรณีที่แสดงสิทธิในที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิอย่างอื่นอยู่ เช่น ขายฝาก จำนอง สิทธิเหนือพื้นดิน ต่อมาผู้ทรงสิทธิได้ถึงแก่กรรม ทายาทของผู้ทรงสิทธิดังกล่าวมาขอรับสิทธินั้น
๒. การจดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล ก็ใช้ประเภทการจดทะเบียนเช่นเดียวกัน
- ผู้จัดการมรดก หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจะมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ทุกคนจะต้องถึงแก่กรรม ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้จัดการมรดกไปทั้งแปลง กรณีที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์มีหลายคน ผู้จัดการมรดกของผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนจะต้องมีผู้จัดการมรดกเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือชุดเดียวกัน
- ผู้จัดการมรดกเฉพาะส่วน หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคนหรือทุกคนถึงแก่กรรม ผู้ขอได้จดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะบางคน
- เปลี่ยนผู้จัดการมรดก หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาศาลสั่งถอนการเป็นผู้จัดการมรดก แล้วตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกใหม่ มาขอจดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้จัดการมรดก
- โอนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดก หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน มีการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่กรรม ศาลได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นใหม่ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกใหม่ มาขอจดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้จัดการมรดก
- เลิกผู้จัดการมรดก หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกไว้ ต่อมาผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่กรรมหมดทุกคน ทายาทไม่ประสงค์ให้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นใหม่อีก แต่ต้องการขอจดทะเบียนรับโอนมรดกไปตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทายาทมาขอจดทะเบียนเลิกผู้จัดการมรดก
สาระสำคัญ
- เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ได้แก่ ”ทายาทโดยธรรม” และ ”ผู้รับพินัยกรรม” (ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๙, ๑๖๐๓)
- ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๓)
- ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ผู้สืบสันดาน
(๒) บิดา มารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕ (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๙)
- กรณีที่จะรับมรดกแทนที่ มีได้ ๒ กรณี คือ
(๑) ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย
(๒) ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย
ถ้าไม่เป็นไปตามกรณีดังกล่าวก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๙)
- สืบสันดานของทายาทโดยธรรมเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔๒)
- พินัยกรรมที่ต้องทำตามแบบ (ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๔๘) ได้แก่
(๑) แบบธรรมดา (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖)
(๒) แบบเขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖)
(๓) แบบทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๘)
(๔) แบบเอกสารลับ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๖๐)
(๕) แบบทำด้วยวาจา (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖)
(๖) แบบซึ่งกฎหมายของต่างประเทศที่คนในบังคับไทยทำพินัยกรรมในต่างประเทศ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๖๗)
- พินัยกรรมที่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไว้ย่อมตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๐๕) สำหรับพินัยกรรมลับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๖๐ กฎหมายมิได้บังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงวัน เดือน ปี ในพินัยกรรมด้วย ดังนั้น แม้ผู้ทำพินัยกรรมเอกสารลับจะไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไว้ในพินัยกรรมก็ใช้ได้ (ฎีกาที่ ๑๒๖/๒๕๑๘)
- ผู้เขียนหรือพยาน และคู่สมรสของผู้เขียนหรือพยาน เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๓) ถ้าพินัยกรรมระบุให้ผู้เขียน พยาน หรือคู่สมรสของผู้เขียนและพยาน เป็นผู้รับมรดก พินัยกรรมนั้นคงตกเป็นโมฆะเฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมที่กำหนดให้ตกได้แก่ผู้เขียน พยาน หรือคู่สมรสของผู้เขียน และคู่สมรสของพยานเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนอื่นยังคงใช้ได้อยู่ (ฎีกาที่ ๗๓๐/๒๔๘๙, ๓๐๖/๒๕๐๗)
- พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๐๓)
- ผู้จัดการมรดกตั้งขึ้นด้วย ๒ กรณี คือ ผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม (ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๒) และผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยคำสั่งศาล (ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๓)
- ผู้จัดการมรดกที่ชอบด้วยกฎหมาย และได้ทำกิจการทั้งหลายภายในขอบอำนาจ ในฐานะผู้จัดการมรดกเท่านั้น จึงจะผูกพันทายาทต่อบุคคลภายนอก (ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๒๔)
- การจดทะเบียนโอนมรดก ตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทรัพย์มรดกจะเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ก็ชอบที่จะขอจดทะเบียนได้ แต่การขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามมาตรา ๘๒ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทรัพย์มรดกจะต้องเป็นที่ดินเท่านั้น และที่ดินนั้นจะต้องมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว
- หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยมรดกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่ การยื่นคำขอและการสอบสวน การเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจากผู้ยึดถือ และการเก็บรักษาไว้ระหว่างรอการจดทะเบียน การลงบัญชีรับทำการและบัญชีแยกประเภทคุมเรื่องมรดก ประกาศ การรับคำขอโต้แย้งและการเปรียบเทียบมรดก การจดทะเบียนมรดก การแจ้งเตือนผู้มาขอจดทะเบียนและการยกเลิกคำขอ และหลักเกณฑ์วิธีการขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาท ตามมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่ การยื่นคำขอและการสอบสวน การจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก ตลอดจนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นไปตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วย การจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปรากฏรายละเอียดที่แนบท้าย
ค่าธรรมเนียม
- การจดทะเบียนโอนมรดก เป็นการจดทะเบียนประเภทมีทุนทรัพย์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ร้อยละ ๒ ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗) (ก) แต่ถ้าเป็นการโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ร้อยละ ๐.๕ ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗) (ง)
- การจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามจำนวนทุนทรัพย์ร้อยละ ๒ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗) (ก)
- การจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างบิดากับบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามจำนวนทุนทรัพย์ร้อยละ ๐.๕ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗) (ง)
- ผู้รับมรดกหลายคน ทายาทบางคนไม่ได้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก หรือในทางกลับกันเมื่อจดทะเบียนในวาระเดียวกันให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยแยกเก็บตามส่วน
- การจดทะเบียนโอนมรดกบางส่วน ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่ผู้ขอได้แสดงการมีส่วนในบันทึกการสอบสวนฯ (ท.ด.๘) โดยคิดค่าเฉลี่ยตามส่วนที่ขอรับ
- การจดทะเบียนผู้จัดการมรดก เปลี่ยนผู้จัดการมรดก โอนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดก และเลิกผู้จัดการมรดก เป็นการจดทะเบียนประเภทไม่มีทุนทรัพย์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนแปลงละ ๕๐ บาท
- การจดทะเบียนโอนมรดกและผู้จัดการมรดก เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นค่าคำขอแปลงละ ๕ บาท ต่อเรื่อง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๑๐) (ก)
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์
การจดทะเบียนโอนมรดกและผู้จัดการมรดก ไม่มีกรณีต้องเรียกเก็บ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกที่เจ้ามรดกได้มาเกิน ๕ ปี ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม
๑. การโอนอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกที่เจ้ามรดกได้มาเกิน ๕ ปี
กรณีผู้จัดการมรดกยื่นคำขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน ซึ่งเจ้ามรดกได้ถือครองมาเกิน ๕ ปีแล้ว ให้แก่ตนเองในฐานะทายาทตามพินัยกรรมโดยผู้รับโอนมรดกซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและกรณีผู้จัดการมรดกได้ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยผู้รับโอนมรดกเป็นหลานตาของเจ้ามรดกและมารดาของผู้รับโอนยังมีชีวิตอยู่ หากการโอนที่ดินได้กระทำเมื่อพ้นกำหนดเวลา ๕ ปีแล้ว การโอนกรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา ๔ (๖) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๓๔๒) พ.ศ.๒๕๔๑ จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีทายาทผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับตามพินัยกรรมแม้ว่าจะขายภายใน ๕ ปี นับแต่วันที่เป็นผู้รับพินัยกรรม ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา ๔ (๖) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๓๔๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ เช่นกัน
๒. การนับระยะเวลาได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และการรับมรดกของทายาทตามพินัยกรรม
(๑) กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทางมรดกให้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรมที่มิใช่ทายาทโดยธรรมซึ่งได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ การนับระยะเวลาการถือครองของผู้โอน ให้นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ส่วนการนับระยะเวลาได้มาของทายาทผู้รับโอน ให้นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๙๙ แม้ว่าจะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนแก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทะเบียนโฉนดที่ดินก็ตาม
(๒) การโอนที่ดินโดยทางมรดก ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔ (๖) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๓๔๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยทางมรดกที่เจ้ามรดกได้กระทำเมื่อพ้นกำหนดเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่ได้มา ไม่ว่าผู้รับพินัยกรรมจะเป็นใครก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
(หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค ๐๘๑๑/๔๑๒ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๓ เวียนโดยหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๑๐/ว ๐๓๔๗๗ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓)


ที่มา : กรมที่ดิน

0 ความคิดเห็น: