ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
29 มิถุนายน 2553

นักวิชาการ เอ็นจีโอ จี้รัฐ เร่งตั้งธนาคารที่ดิน ประเดิมแบบชั่วคราวใช้ภายใน 3 เดือน ควบคู่จัดตั้งแบบถาวร

การจัดการปฏิรูปที่ดิน โดยรัฐบาลจะเร่งออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการธนาคารที่ดินให้ได้ภายใน 3 สัปดาห์นั้น นักวิชาการ ชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน ต่างออกมาเรียกร้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ร่างการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งดำเนินการนั้นมีเป้าหมายเพื่อการยกร่าง พ.ร.บ.ที่ดินในการจัดตั้งธนาคารที่ดินถาวร โดยองค์กรดังกล่าวจะจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนแบบชั่วคราว ใช้เวลา 3-5 ปีในการยกร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นการจำลองธนาคารที่ดินก่อนที่จะมีการจัด ตั้งแบบถาวรโดยมีการร่างพระราชบัญญัติขึ้นมารองรับ

"การเร่งรัฐให้ออกพระราชกฤษฎีกาจะสามารถดำเนินการได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับ นโยบายของภาครัฐบาลเองว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน หากให้ความสำคัญก็สามารถจัดตั้งได้เร็วขึ้นได้" ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว

ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ นั้นจะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ การใช้มาตรการทางภาษีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของ การถือครองที่ดินได้ทั้งหมด รัฐบาลจะต้องมีมาตรการและเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย เช่น การจัดตั้งธนาคารที่ดิน ควรเป็นองค์กรอิสระบริหารในรูปแบบองค์การมหาชนไม่แสวงหากำไร เพื่อเป็นกลไกพิเศษที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงที่ดินทำกิน เพื่อเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย

"ในระยะยาว จะต้องผลักดันให้มีพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินเพื่อยกระดับกองทุนธนาคารที่ดินให้เป็นองค์การมหาชน ที่มีการบริการจัดการอย่างเป็นอิสระ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็น ธรรม" ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว

ขณะที่ น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ กองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือร่างดังกล่าว ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการ จึงควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมได้

"ประชาชนควรจะได้มีโอกาสเห็นร่างกฎหมายภาษีที่ดิน ว่าเนื้อหาหลักการของกฎหมายกระจายการถือครองที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความ เหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ แต่ปัญหาคือภาคประชาชนไม่มีโอกาสได้เห็นร่างดังกล่าวเลย" น.ส.พงษ์ทิพย์ กล่าว

น.ส.พงษ์ทิพย์ กล่าวย้ำอีกว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ประการแรกในเชิงกระบวนการมีส่วนร่วม เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ เป็นเรื่องใหม่ สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองที่ดินในสังคม และส่งผลกระทบกับคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม รัฐบาลควรสร้างเงื่อนไข ตั้งคณะทำงานร่วม หรือกลไกร่วมเพื่อให้ภาคประชาชน นักวิชาการ และภาคธุรกิจ ได้มีความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจ กระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขความเหลื่อมล้ำของสังคมตามเจตนาของ รัฐบาล

"ในเบื้องต้นรัฐบาลจึงควรเปิดเผยร่างกฎหมาย ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อให้นักวิชาการ สื่อมวลชนและภาคประชาชน ได้มีความเห็นต่ออัตราภาษีและเนื้อหากฎหมายก่อนนำเข้าสู่กระบวนการประชา พิจารณ์ เพื่อจะเป็นการคลายความกังวลของคนสองกลุ่มในสังคม ทั้งในส่วนที่กังวลว่าจะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนและมากขึ้นจากที่ดินและสิ่งปลูก สร้างที่ถือครองอยู่" น.ส.พงษ์ทิพย์ กล่าว

นอกจากนี้ น.ส.พงษ์ทิพย์ กล่าวว่า หากกฎหมายตัวนี้ มีความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการกระจายการถือครอง และพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่าจริง ควรมีการระบุให้ชัดว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะนำไปใช้ประโยชน์ใดบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ที่จะก่อให้เกิด การกระจายการถือครอง และนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นนั้น

"รายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนหนึ่งของรายได้ควรมีการระบุให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการกระจายการถือ ครองที่ดิน ในสองส่วนที่สำคัญ ส่วนแรกคือการนำเงินรายได้จากภาษี มาจัดซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรรายย่อยและคนยากจนในท้องถิ่น โดยที่ดินที่ซื้อหามาได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนนี้ ควรถูกติดตามและดูแลโดยกลไกท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองที่ดินที่ซื้อหามานั้น ให้เป็นของเกษตรกรยากจนตลอดไป โดยไม่ให้ซื้อขายให้กับนายทุนภายนอก ที่สำคัญที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าควรถูกสำรวจอย่างจริงจังจากองค์กรปกครอง ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจัดซื้อหรือจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์กับคนยากจน"

ส่วนการจัดตั้งธนาคารที่ดินที่รัฐบาลประกาศจะ ออกพระราชกฤษฎีกานั้น น.ส.พงษ์ทิพย์ บอกว่า รัฐบาลจะต้องเร่งออกประกาศให้เร็วที่สุดภายใน 3 เดือนควรจะมีการจัดตั้ง องค์กรบริหารจัดการที่ดิน เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะอยู่ได้อีกนานหรือไม่ โดยข้อเสนอของประชาชน คือ จัดตั้งองค์กรบริหารจัดการที่ดิน หรือธนาคารที่ดิน โดยมีงบประมาณ 5 พันล้านบาท

นอกจากนี้ข้อเสนอของภาคประชาชนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่เคยเสนอให้มีการนำรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่น้อยกว่า 2% มาจัดตั้งเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อนำเงินรายได้จากภาษีมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการ ถือครองที่ดิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้เพียงในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องทำงานโดยมีกลไกระดับชาติ หรือกองทุนธนาคารที่ดินแห่งชาติขึ้นมา จัดการแก้ไขปัญหา เนื่องจากแม้จะมีกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีแนวโน้มจะเป็นมาตรการหนึ่งในการหนุนเสริมการกระจายการถือครองที่ดิน รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบาย และมาตรการหลายประการควบคู่กันเพื่อสร้างให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ตามที่กล่าวอ้างนั้น

นายไสว มาลัย ตัวแทนชาวบ้าน เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน บอกว่า หากรัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดินจะเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยอย่างยิ่งเนื่องจาก เป็นข้อเสนอที่เครือข่ายชาวบ้าน เรียกร้อง แต่กังวลเพียงเรื่องของ การมีส่วนร่วมในการร่างเท่านั้น เพราะว่า ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม จึงไม่มั่นใจว่า จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราเรียกร้องหรือไม่ หากเป็นไปได้ ก่อนประกาศ ให้ชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

"นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยบอกว่า ภายใน 3 สัปดาห์สามารถจัดตั้งธนาคารที่ดินได้ เพราะว่ามีคณะทำงานชุดหนึ่งที่ยกร่างแนวทางเอาไว้แล้ว เกรงว่าจะเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ไม่เป็นไปตามหลักการ เพราะที่ชาวบ้านเสนอตั้ง ธนาคารกองทุนที่ดิน เพราะต้องการให้เกิดการกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม โดยให้มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินมาเข้าธนาคารกองทุนที่ดิน"

นายไสว กล่าวอีกว่า ที่ชาวบ้านเสนอให้มีการเก็บภาษาอัตราก้าวหน้า เพราะต้องการไปบีบให้มีการกระจายตัวการถือครองที่ดิน เนื่องจากคนที่มีที่ดินจำนวนมาก จะต้องเสียภาษีมากขึ้น และในที่สุดจะต้องนำที่ดินไปกระจาย หรือขายออกมา สามารถนำที่ดินดังกล่าวไปกระจายให้กับเกษตรกรได้ เพราะเป้าหมายสำคัญ คือ การจำกัดการถือครองที่ดิน ซึ่งมาตรการเรื่องภาษีสามารถช่วยได้

"หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินได้ หรือจัดตั้งธนาคารที่ดินได้ทันในสมัยนี้ ที่บอกว่าต้องการปฏิรูปประเทศนั้นคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่า ปัญหาสำคัญในการจัดการปัญหาความยากจนคือ เรื่องการที่ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้เพื่อให้เข้าสู่แนวทางปฏิรูปได้ รัฐบาลจะต้องเด็ดขาด กรณีปัญหาเฉพาะ กรณีปัญหาเรื่องของคดีความ การฟ้องร้องชาวบ้าน หรือคำสั่งทำลายพืชผลชาวบ้าน กรณีที่ทำดินบนที่ดินรัฐ เพราะปัญหาเหล่านี้ คือรูปธรรมความขัดแย้ง บนที่ดินของรัฐที่สามารถดำเนินการได้"

นายไสว กล่าวอีกว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในส่วนกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่เข้ามาประกาศทับสิทธิทำกินของชาวบ้าน จะต้องปรับแก้ เพราะหากรัฐบาลทำไม่ได้ ก็ปฏิรูปประเทศไม่ได้เช่นกัน

ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า เป็นมาตรการที่ดีที่จะทำให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินรกร้างและส่งเสริมให้มี การลงทุนทำการเกษตร เช่น การให้เช่าที่ดินเพื่อการเกษตร แต่หมายความว่าที่ดินก็ยังไม่ตกถึงมือเกษตรกรคนไร้ที่ดินอยู่ดี จึงถือว่ายังไม่ได้เป็นมาตรการทางภาษีที่มีอัตราก้าวหน้าที่มากพอที่จะแก้ไข ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ดังนั้นถ้าจะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เงินภาษีที่เก็บได้ต้องนำมาจัดทำเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายโฉนดชุมชนเพื่อให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ ได้ในระยะยาว


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 26 มิ.ย. 53

0 ความคิดเห็น: