ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
27 ธันวาคม 2552

กรมที่ดินรับลูกกระทรวงการคลัง ต่ออายุมาตรการลดค่าโอน -จดจำนอง-ภาษีเฉพาะ อุ้มสินทรัพย์รอการขายหรือNPA กว่า 200,000 ล้าน ไม่รวมรายที่อยู่ในบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ออกไปอีก 2 ปี ดีเดย์ 31 ธ.ค.52-31ธ.ค.54 จาก 2 % เหลือ 0.01% จดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01 % ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ กรมสรรพากรลดต่อเนื่อง เหลือ 0.11% จาก 3.3% ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ต่ออายุหรือไม่รอคลังไฟเขียว

นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้กรมที่ดินต่ออายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ประเภทสินทรัพย์รอการขายหรือ NPA ที่กำลังจะหมดอายุลงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 นี้ หลังครบกำหนด 2 ปี ซึ่งกรมที่ดินอยู่ระหว่างยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อต่ออายุมาตรการดัง กล่าว และจะเร่งประกาศใช้ต่อเนื่องให้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 โดยมีอายุ 2 ปี หรือหมดอายุลงในวันที่ 31ธันวาคม 2554

มาตรการ ช่วยเหลือสินทรัพย์รอการขายหรือ NPA ของกรมที่ดินประกอบด้วยลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือ ค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 เหลือ ร้อยละ 0.01 ลดหย่อนค่าจดจำนองจากร้อยละ 1 ให้เหลือเพียงร้อยละ 0.01 สำหรับมาตรการลดหย่อยภาษีธุรกิจเฉพาะ กรมสรรพากรเป็นเจ้าของเรื่อง และมอบให้กรมที่ดินจัดเก็บรายได้ ซึ่งอยู่ระหว่างลดหย่อนต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาลเช่นกัน จากร้อยละ 3.3 เหลือเพียงร้อยละ 0.11 "

ขณะเดียวกันมองว่า สินทรัพย์รอการขายยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่เช่นนั้นกระทรวงการคลังจะไม่มีคำสั่งให้ต่ออายุมาตรการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินระบายสินทรัพย์ ที่ยังมีปัญหาให้สามารถซื้อ-ขายง่ายขึ้น โดยใช้มาตรการจูงใจจากการลดภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งจะสามารถช่วยระบายสินทรัพย์ที่ประสบปัญหาให้หมดไปได้

ส่วนมาตรการกระตุ้นการซื้อ-ขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ที่ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 ค่าจดจำนองจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 ส่วน ภาษีธุรกิจเฉพาะ ของกรมสรรพากร จากร้อยละ 3.3 เหลือ 0.11 จะหมดอายุลงในเดือนมีนาคม 2553 นั้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก เรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการต่อไปอีก 2 ปี โดยอ้างว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจอสังหาฯ ขับเคลื่อนต่อไปได้ และยังช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง แรงงาน วัสดุก่อสร้าง การจับจ่ายใช้สอยต่างๆที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การที่จะพิจารณาต่ออายุมาตรการดังกล่าวหรือไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล หากมีนโยบายลงมา กรมที่ดินจะยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ต่ออายุมาตรการดังกล่าวทันที แต่ทั้งนี้มองว่าการจะต่ออายุมาตรการต้องมีความสมเหตุสมผล ว่า ภาคธุรกิจอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ หรือ มีการล้มฟุบของธุรกิจจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่

"ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจสินทรัพย์รอการขายหรือ NPA ที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ปัจจุบันมีมากกว่า 200,000 ล้านบาท โดยไม่รวม NPA ที่อยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์

ด้านนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาฯ ว่ามีส่วนช่วยให้ธุรกิจมีการเติบโต แต่การที่จะต่ออายุของมาตรการหรือไม่คงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล ซึ่งสิ่งสำคัญผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การต่ออายุมาตรการด้านภาษี รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ และควรเลือกเฉพาะรายการที่จำเป็นและมีประโยชน์สำหรับส่วนรวม และคงต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(บสก.) กล่าวว่า ปีหน้าแนวโน้มสินทรัพย์รอการขายทั้งระบบจะอยู่ที่ประมาณ 280,000-300,000 ล้านบาท โดยรวมทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในระบบประมาณ 130,000-140,000ล้านบาท บวก 3 บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ(เอเอ็มซีประกอบด้วย บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.)ประมาณ 90,000 ล้านบาท บสก. 40,000 ล้านบาท และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทหรือบบส.สุขุมวิทหรือแซมอีกประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทที่เหลือเป็นธนาคารเฉพาะกิจประมาณ 30-40,000 ล้านบาท เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น

นายอิสระ บุญยัง ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การต่อมาตรการของกรมที่ดินดังกล่าว ช่วยส่งผลดีต่อทรัพย์ที่รอการขาย เพราะถือเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปัจจุบัน ซึ่งทรัพย์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบวิกฤติมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพย์ต่างๆ มีโอกาสที่จะถูกหยิบมาพัฒนาเป็นสินค้าต่อเนื่องได้ในปีหน้า แต่คงมีปริมาณไม่มากเพราะทรัพย์ส่วนใหญ่ที่มีการแก้ไขและปรับโครงสร้างหนี้ แล้วได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้ามากแล้ว

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ : 26-12-52

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

Interesting post.....House Rentals