ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
1 กันยายน 2552

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยเทรนด์แหล่งเงินทุนบิ๊กอสังหาฯ หันออกหุ้นกู้ หลังแบงก์เข้ม พร้อมระบุ แนวโน้มครึ่งปีหลังโอกาสเป็นบวก สินเชื่อรายย่อยดี

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการหาเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการในช่วง 2-3 ปีมานี้ เน้นการออกหุ้นกู้มากขึ้น โดยเห็นได้จากสัดส่วนของมูลค่าหุ้นกู้ในแต่ละปีของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขย้อนหลังตั้งแต่ปี 2548 การออกหุ้นกู้ของบริษัทยักษ์ใหญ่มีมูลค่าน้อยมาก ประมาณ 13,900 ล้านบาท ต่อมาในปี 2549 ขยับขึ้นเท่าตัวเป็น 39,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 59,492 ล้านบาทในปี 2550 และในปี 2551 ที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 65,926 ล้านบาท

รวมถึง ตัวเลขล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 มีมูลค่าอยู่ที่ 35,110 ล้านบาท ก็เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 31,103 ล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนการกู้เงินของโครงการต่างๆ ผ่านสถาบันการเงินกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรก 2552 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,842 ล้านบาท ลดลงสูงถึง 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ครึ่งปีแรก 2551) ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 36,482 ล้านบาท และหากย้อนหลังไปดูตัวเลขของครึ่งปีแรก 2550 มีมูลค่าอยู่ที่ 31,448 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาพรวมการลงทุนจากแหล่งเงินทั้งสองแล้ว จะพบว่า การลงทุนไม่ได้ลดลงเลย แต่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอ

โดย ผอ.ศูนย์ข้อมูลฯ ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนรวม 2 ช่องทาง ทั้งการออกหุ้นกู้ และเงินกู้จากสถาบันการเงินย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2548 (รวมทั้งปี) มีมูลค่าประมาณ 43,000 ล้านบาท ในปี 2549 เม็ดเงินลงทุนเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 81,000 ล้านบาทในปี 2550 และเพิ่มขึ้นเป็น 135,000 ล้านบาท ในปี 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขล่าสุดในปีนี้ ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 58,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่า ภาพรวมทั้งปีก็จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา

ตัวเลขลงทุนสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงลงทุนต่อเนื่อง เพียงแต่ช่องทางในการหาเม็ดเงินลงทุนปรับตัวไปตามสถานการณ์ ปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สถาบันการเงินมีความเข้มในการปล่อยสินเชื่อมาก ขึ้นตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการต้องมองหาช่องทางการเงินอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ เรื่องการคุมต้นทุนทางการเงินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกันที่ทำให้ผู้ประกอบ การหันมาออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น เพราะการออกหุ้นกู้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าการกู้แบงก์ หรือหากจะสูงกว่า ก็สามารถคุมต้นทุนได้ เพราะเป็นกำหนดอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อหุ้นกู้ไว้แล้ว ซึ่งเป็นต้นทุนที่ผ่านการคำนวณมาแล้วว่า ยังคุ้ม

คาดครึ่งปีหลัง สินเชื่อรายย่อยขยับเร็วขึ้น

สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของรายย่อย ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากที่แบงก์เข้มกับการปล่อยสินเชื่อมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายแบงก์มียอดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่ำกว่าเป้าหมาย จึงเชื่อว่าจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แบงก์จะรุกตลาดสินเชื่อที่อยู่ อาศัยหนักขึ้นในช่วงครึ่งหลังนี้ บวกกับสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลัง มีแนวโน้มที่ดูเป็นบวกมากขึ้น

นอกจากนี้ นายสัมมา ยังกล่าวอีกว่า นโยบายผลักดันสินเชื่อสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขยายตัวมากขึ้น ผู้ซื้อบ้านมีโอกาสได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเร็วขึ้น โดยภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในครึ่งปีแรก 2552 ทั้งระบบอยู่ที่ 134,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3-4% ตัวเลขสินเชื่อที่กล่าวถึง แบ่งเป็น การปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ 78,950 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 46,195 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ 9,538 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ภาพรวมตลาดในช่วงครึ่งปีหลังที่ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลฯ เมองว่ามีปัจจัยเป็นบวกมากขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่า หากมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามากระทบภาพรวมตลาดอาจไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก เท่าที่คาดการณ์ และมองว่า ปัจจัยทางการเมืองกลายเป็นปัจจัยลบสำคัญที่มีความอ่อนไหวกับตลาดมากเป็น อันดับต้นๆ

โดย : สุกัญญา สินถิรศักดิ์ ; กรุงเทพธุรกิจ 01-09-52

0 ความคิดเห็น: