ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
29 มกราคม 2552

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จับมือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ประกาศ

" ลองของ" ผลักดันให้มีการบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ทดแทนพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508

เป็นประเด็นใหม่ที่สร้างความกังวลให้กับบุคคลหลายกลุ่ม ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเจ้าที่ดิน นายทุน

ซึ่งส่วนหนึ่งมีอาชีพเป็นนักการเมืองด้วย

แต่กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) หน่วยงานศึกษาการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือน่าตื่นเต้น

เพราะกว่า 10 ปีที่ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ผ่านการศึกษาวิจัยของสศค.มานั้น ยังไม่เคยผ่านไปถึงการพิจารณาของครม.

ไม่ต้องพูดถึงรัฐสภา

ล่าสุดที่จ่อคิวจะเข้าครม.ก็สมัยน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรมว.คลัง แต่ก็เปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน

สศค.พยายามผลักดันกฎหมายนี้ผ่านไปถึงรัฐสภาให้ได้มาทุกสมัย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สศค.ระบุว่า ในครั้งนี้เพียงแค่ให้ผ่านรัฐสภาก่อน ก็ถือเป็นความสำเร็จอันใหญ่หลวง แม้จะยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้จริง เนื่องจากกฎหมายมีบทเฉพาะกาลให้เวลา 2 ปี ต้องประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่

ถึงตอนนั้นคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีพอที่ทุกคนจะมีความสุขกับการจ่ายภาษี

แล้วเม็ดเงินจะกลับมาเป็นสวัสดิการต่อไป

หลักการของพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ก็คือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนในประเทศ เนื่องจากทรัพยากรที่ดินมีอยู่จำกัด หากกระจุกกับคนบางกลุ่มย่อมไม่สามารถบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

จำเป็นต้องกระจาย ผ่านจากคนรวยมายังคนจน

ใครที่มีที่ดินมากและอยู่ในทำเลทอง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ต้องจ่ายมากกว่าคนมีน้อย อยู่ในพื้นที่ห่างไกลแต่ใช้ประโยชน์สูง

นอกจากนั้น ภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีปัญหา จากอัตราที่จัดเก็บกับผู้ประกอบการสูงถึง 12.5% ของค่าเช่า

ทำให้มีผู้หลบเลี่ยงมาก

ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ ปัญหาคือใช้ราคาปานกลางของที่ดินในปี 2521-24 ประเมินภาษี ภาระภาษีจ่ายจึงต่ำ ประกอบกับมีการยกเว้นและลดหย่อนที่ดินอยู่อาศัยของตัวเองที่มีขนาดตั้งแต่ 50 ตร.ว.ถึง 5 ไร่ ทำให้รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จัดเก็บจึงน้อย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

โดยร่างใหม่อัตราภาษีที่เรียกเก็บจะมี 3 อัตรา ได้แก่ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัยโดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์ไม่เกิน 0.1% และที่เกษตรกรรมไม่เกิน 0.5%

ส่วนที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ให้เสียภาษีไม่เกิน 0.5% ใน 3 ปีแรก และถ้ายังไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ อีกจะเสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน

ซึ่งอัตราที่จะนำมาจัดเก็บจะทยอยเก็บ ปีแรกเก็บเพียง 50% ของอัตราที่กำหนด คาดรัฐจะมีรายได้เพิ่ม 4 หมื่นล้านบาท ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 75% เพิ่มรายได้ให้รัฐ 6 หมื่นล้านบาท

ปีที่ 3 จึงจะจัดเก็บเต็มที่ 100% รัฐมีรายได้เต็มที่ 90,249 ล้านบาท

โดยจะจัดเก็บจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐ

ไม่เว้นช่องว่างให้ใครหลบได้

ที่มา : ข่าวสดรายวัน 29 มกราคม 2552

0 ความคิดเห็น: