ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
3 ตุลาคม 2552

หากพูดถึงงานกินเจหรือเทศกาลงานประเพณีถือศีลกินผัก คงไม่มีที่ไหนจะยิ่งใหญ่และอลังการณ์เท่า "เกาะภูเก็ต" ไข่มุกแห่งอันดามัน

ประเพณีการกินเจกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน

การกินเจที่ภูเก็ต ปัจจุบันทางจังหวัดรณรงค์ให้เรียกว่า "งานกินผัก" แทน "งานกินเจ" เพราะชาวจีนภูเก็ตจะเรียก "เจี๊ยะฉ่าย" แปลตรงตัวว่า "กินผัก"

สำหรับงานประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ตในปีนี้ตรงกับวันที่ 18-26 ต.ค. โดยมีศาลเจ้าหรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า "อ๊าม" ถึง 15 แห่งทั่วเกาะภูเก็ต ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ร่วมใจกันสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามเช่นทุกปี

นายวิชัย ไพรสงบ พ่อเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ปีนี้ทางจังหวัดกำหนดให้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เน้นอนุรักษ์ความเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งในเรื่องของอาหาร การแต่งกาย การประดับธงทิว โคมไฟ ที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามและมีความเป็นสิริมงคล คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้า ร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย สิงค์โปร์

ด้านนายธีรวุฒิ ศรีตุลารักษ์ ประธานศาลเจ้าจุ๋ยตุ่ย ศาลเจ้าใหญ่ศาลเจ้าหนึ่งในบรรดาศาลเจ้าที่ร่วมในงานถือศีลกินผัก จากทั้งสิ้น 15 ศาลเจ้า กล่าวว่า นอกเหนือจากการถือศีลกินผักซึ่งชาวภูเก็ตและผู้ร่วมพิธีส่วนใหญ่จะนุ่งห่ม ด้วยชุดขาวไปทั้งเมือง กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างที่ทางคณะกรรมการศาลเจ้าทั่วเกาะภูเก็ตร่วมกัน ปฏิบัติสิบมาเป็นปีที่ 6 คือการประกอบพิธีซ่งเก้งหรือการสวดมนต์ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ในเวลา 17.00 น. วันที่ 19 ต.ค. ณ บริเวณสะพานหิน โดยในปีนี้ศาลเจ้าจุ๋ยตุ่ยเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ทางศาลเจ้าแต่ละแห่งจะหุงห้าวและอาหารแจกจ่ายประชาชนที่ประสงค์มารับได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 9 วัน 9 คืน

เพื่อให้เข้าใจถึงพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ถือศีลกินผัก พิธีบูชาพระ ในวันแรกของพิธีจะมีการบูชาพระด้วยเครื่องเซ่นต่างๆ ทั้งที่ศาลเจ้าและตามบ้านเรือนเพื่อกินผักให้ครบ 3 วัน ถือว่าผู้นั้นสะอาด บริสุทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า "เช้ง"

พิธีโขกุ้น เป็นพิธีการเลี้ยงทหาร ทำพิธีในวันที่ 3 วันที่ 6 และวันที่ 9 ของงานหลังเที่ยงประมาณ 15.00 น. โดยมีการเตรียมอาหาร เหล้า สำหรับเซ่นสังเวยรวมถึงมีหญ้าหรือพวกถั่ว

พิธีเหลี่ยมเก้ง เป็นการสวดมนต์ จะเริ่มสวดตั้งแต่พระกิ้วฮ๋องต่ายเต่เข้าประทับในอ๊ามหรือศาลเจ้า ทำพิธีสวดวันละ 2 ครั้ง เป็นลักษณะการสวดมนต์เช้าและสวดมนต์เย็นโดยเฉพาะกลางคืน

พิธีบูชาดาว (ป้ายชิดแช) จะทำในคืนวัน 5 ค่ำ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครอง ในพิธีดังกล่าวจะมีการนำฮู้หรือกระดาษยันต์แจกจ่ายแก่ผู้ร่วมพิธี

พิธีอิ้วเก้งหรือการแห่พระ เป็นการออกประพาสเพื่อโปรดสัตว์หรือทำนองออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์ โดยมีขบวนธงทิวและป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นก็เป็นเกี้ยวหามธูปพระ เรียกว่า "ไท่เปี๋ย" หรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามรูปพระบูชาต่างๆ ออกนั่งเกี้ยวไป

โดยจัดตามชั้นยศของพระ อาทิ จาก "ลิ่น" ขึ้นไปเป็น "ง่วน" "โส่ย" สูงขึ้นไปอีกเป็น "ไต่เต่" หรือสูงไปอีกเป็น "ฮุด"

จากนั้นเป็นขบวนของเกี้ยวใหญ่ หรือตั่วเหรียญหรือเสลี่ยงใหญ่ มักใช้คน 8 คนหาม และมีฉัตรจีนหรือนิวสั่วกั้นไปด้วยซึ่งเป็นที่ประทับของ "กิ้วฮ๋องฮุดโจ้ว" ในขณะที่ขบวนผ่านชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับขบวน เมื่อผ่านมาถึง

พิธีลุยไฟ โก้ยโห้ยหรือโก้ยโห่ย กองไฟถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถือเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ที่บังคับไฟไม่ให้ร้อน หรืออาจถือว่าเป็นไฟทิพย์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์โดยการลุยทั้งคนทรงเจ้าหรือ "ม้าทรง" ที่กำลังประทับทรงตลอดไปจนถึงประชาชนทั่วไป

พิธีโก๊ยห่านหรือสะเดาะเคราะห์จะกระทำหลังพิธีลุยไฟ ให้ผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ตัดกระดาษเป็นรูปตัวเอง พร้อมเหรียญ 25 สตางค์และต้นกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น นำมาที่ศาลเจ้าให้ม้าทรงประทับตราด้านหลังของเสื้อที่สวมใส่เรียกว่า ต๊ะอิ่น

พิธีส่งพระหรือ ส่างอิ้งอ๋อง ทำกันในคืนสุดท้ายของการถือศีลกินผักจะมีการส่งหยกอ๋องส่งเต่ซึ่งมักส่งกัน ที่เสาโกเต้ง ก่อน เที่ยงคืนมีการส่งพระกิ้วอ๋องฮุดโจ้วกลับสวรรค์ ณ บริเวณปลายแหลมสะพานหิน ระหว่างทางมีการตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดสนั่นทั่วเมือง เมื่อขบวนส่งพระออกนอกประตู ไฟทุกดวงในศาลเจ้าต้องดับสนิทและปิดประตูใหญ่

สรุปจบท้ายด้วยข้อควรปฏิบัติ 10 ประการสำหรับผู้ร่วมงานถือศีลกินผัก คือ 1.ชำระร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงงานประเพณี 2.ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกใช้คนละส่วนกับคนที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก 3.ควรสวมชุดขาวตลอดช่วงงานประเพณี 4.ประพฤติตนดีทั้งกายและใจ 5.ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ 6.ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงประเพณี 7.ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา 8.ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ไม่ควรร่วมงานประเพณี 9.หญิงมีครรภ์ไม่ควรดูพิธีกรรมใดในช่วงงานประเพณี และสุดท้ายข้อ 10 หญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใดๆ ในงานประเพณี

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 03-10-52

0 ความคิดเห็น: