ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
17 กรกฎาคม 2552

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ระบุระบบข้อมูลไทยยังด้อย เหตุไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลกระทบการวางแผนธุรกิจผิดพลาด

สมาคมอสังหาริมทรัพย์ จัดสัมมนา “แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” เพื่อเพิ่มโอกาสในการอ่านหรือการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการหาข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ประกอบการพิจารณาการตัดสินใจลงทุนให้แก่ สมาชิก

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า มีหลายข้อมูล และหลายปัจจัยที่ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องนำมาประกอบ การพิจารณาการลงทุน นอกเหนือจากโลเคชัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญแล้ว ยังมีข้อมูลในเชิงมหภาคและจุลภาคอีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูล ทางศูนย์ข้อมูลฯ พยายามจะนำเสนอให้ครบทุกๆ ด้าน แต่ยังติดปัญหาในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือในการให้ข้อมูล ทั้งจากฝั่งของผู้ประกอบการ และจากหน่วยงานราชการด้วยกันเอง ที่หาได้ยากและใช้เวลานาน

“การขอจากหน่วยงานราชการด้วยกันเองก็ยาก และมีต้นทุนที่คาดไม่ถึง” นายสัมมากล่าว

ด้านนายสมเชาว์ ตัณฑเทอดธรรม อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การหาข้อมูลเพื่อวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการที่ผ่านมา ถือว่าเป็นงานหนัก ทั้งนี้ เพราะนอกจากข้อมูลที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล จีดีพี การจดทะเบียนโอนแล้ว ข้อมูลที่สำคัญมากก็คือ ข้อมูลระดับจุลภาคในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละโลเคชัน แต่การจะได้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ยอมเปิด ข้อมูล เช่น ยอดปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร หรือ ยอดจอง (ขาย) ของโครงการในแต่ละช่วง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการเหล่านั้น ไม่ต้องการให้คู่แข่งรู้ข้อมูล ซึ่งจะต่างจากประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ที่จะมีหน่วยงานดูแลโดยตรง และในการขออนุญาตทำการจัดสรรหรือก่อสร้าง เมื่อได้รับอนุญาตจะต้องรายงานยอดขาย หรือจอง รวมถึงยอดโอนในแต่ละช่วงไปยังหน่วยงานที่อนุญาต ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง ว่า ในแต่ละพื้นที่นั้นมีความต้องการที่อยู่อาศัยเท่าไร จะทำให้สามารถกำหนดทิศทางหรือนโยบายได้ ทำให้ลดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายลงได้มาก ต่างจากประเทศไทย

นายสัมมา กล่าวว่า การสร้างมาตรฐานด้านข้อมูลนั้น ขณะนี้ทางศูนย์ข้อมูลฯ ร่วมกับสมาคมรับสร้างจัดทำดัชนีค่าก่อสร้างมาตรฐาน ซึ่งจะต้องคิดหลายรูปแบบของโมเดลแบบบ้านมาตรฐานขึ้นมา แล้วมาหาค่ากลาง การจัดทำดังกล่าว สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการก่อสร้างบ้านในแต่ละหลัง ในขนาดพื้นที่ใช้สอยที่เท่ากัน ซึ่งคาดว่าเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้ ค่ากลางดังกล่าวจะต้องได้รับการยอมรับ จากสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

นอกจากนี้ ทางศูนย์ข้อมูลฯ ยังจะจัดทำระบบการบันทึกข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือ MLS สำหรับบ้านมือสอง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2553

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 17-07-52

0 ความคิดเห็น: