ติดต่อ ที่ดินภูเก็ต : ศักดิ์ดา การวิจิตร โทร : 081-5377146 อีเมล์ : s_karnwigit@yahoo.com ...
12 กรกฎาคม 2552

เอกชนโวยประมูลระบบสารสนเทศที่ดิน ของกรมที่ดิน มูลค่าเกือบ 800 ล้านบาท เร่งเวลายื่นซอง หวั่นเอื้อผู้ซื้อซองประกวดราคาบางราย

แหล่งข่าวจากวงการประมูลติดตั้งระบบไอที กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนในวงการประมูลระบบไอที ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปตามสายงานกำกับดูแลกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการ (มท.3) รัฐมนตรีว่าการ (มท.1) และนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2552 กรณีกรมที่ดิน ออกประกาศประกวดราคาจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 24 มิ.ย. 2552 ซึ่งพบสิ่งผิดปกติที่ส่งสัญญาณว่าจะเอื้อประโยชน์แก่ผู้ซื้อซองประกวดราคา บางราย จึงขอให้ช่วยตรวจสอบ

จากการที่กรมที่ดิน ได้รับอนุมัติงบประมาณ 756 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดินเพิ่มเติม 25 แห่ง ผูกพัน 3 ปี จากปี 2552-2554 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบดังกล่าวตามมติ ครม. สมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว จึงให้ดำเนินการทั้งประเทศ เป็นงบประมาณรวม 12,000 ล้านบาท หลังจากเล็งเห็นประโยชน์ของโครงการที่กรมที่ดิน เคยจัดทำ 47 แห่ง วงเงิน 350 ล้านบาท เสร็จเมื่อปี 2550 ที่รับงานโดย บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (เอไอที)

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งผิดปกติเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการ มีขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค.-มิ.ย. 2552 นาน 3 เดือน รวม 6 ครั้ง ก่อนประกาศประกวดราคา และกำหนดเวลาขายซอง 7 วัน 24-30 มิ.ย. 2552 ราคาซองละ 2 แสนบาท รับฟังคำชี้แจงประกาศวันที่ 1 ก.ค. 2552 ยื่นเสนอเอกสารประกวดราคาจ้าง วันที่ 10 ก.ค. 2552 และทดสอบประสิทธิภาพ (Benchmark Test) วันที่ 13 ก.ค. 2552

"โครงการที่มีมูลค่าสูงๆ เกือบ 800 ล้านบาท ไม่ควรเร่งรัดขั้นตอนการยื่นเอกสารประกวดราคา และการทำเบนช์มาร์ค ซึ่งการประมูลปกติจะต้องให้เวลา 30-45 วัน การจะซื้อสิ่งที่ดีที่สุด ต้องทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้มากที่สุด แต่นี่ไปทอดเวลาทำเฮียริ่ง 3 เดือน ถ้าปกติทำแค่ 1 เดือนก็เพียงพอแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการสร้างเกณฑ์ให้รายใดรายหนึ่งชนะอย่างใสสะอาด โดยมีขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง หากกำหนดเวลาที่ใช้ไม่เหมาะสม"

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ข้อกำหนดการทำเบนช์มาร์ค ก็ผิดปกติของโครงการใหญ่ระดับนี้ เพราะจะให้โจทย์การทดสอบส่วนที่ 2 ณ วันที่ทำทดสอบ เวลา 13.00 น. แล้วต้องส่งผลทดสอบแก่คณะกรรมการภายในเวลา 16.30 น. เท่ากับมีเวลาทำ 3 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนโจทย์ส่วนที่ 1 มอบไปเมื่อซื้อซองประกวดราคา และให้ส่งคำตอบมาพร้อมวันยื่นซอง
การ ประกวดราคาครั้งนี้มีผู้ซื้อซอง 5 ราย ประกอบด้วย บมจ.เอ็มเอฟอีซี, บริษัท วี-สมาร์ท จำกัด, บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด, บมจ.สามารถ เทลคอม และ เอไอที

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การซื้อซองครั้งนี้ มีสองบริษัทเข้ามาเพื่อเป็น "คู่เทียบ" ให้อีกบริษัทหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประกวดราคาที่ต้องมีอย่างน้อย 3 บริษัทผ่านการคัดเลือก หลังจากได้งานบริษัท ต้องซื้อสินค้าบางรายการจากบริษัทคู่เทียบ คือ ซอฟต์แวร์ของออราเคิล และระบบสื่อสัญญาณของซิสโก้

ด้านนายไพโรจน์ เผือกวิไล ประธานกรรมการประกวดราคาจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน กรมที่ดิน กล่าวว่า โครงการนี้ผู้ซื้อซองประกวดราคาแต่ละราย เป็นบริษัทที่อยู่ในสายงานด้านนี้ รู้เรื่องข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศ (จีไอเอส) เป็นอย่างดี และตั้งใจมาซื้อซองประกวดราคาที่ตั้งไว้ถึงซองละ 2 แสนบาท จึงไม่น่ามีปัญหา มีสิทธิ์จะได้งานทั้งสิ้น และตัวโครงการจัดทำอย่างโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบได้ มีบันทึกวีดิโอการชี้แจงคำถาม และจะบันทึกการยื่นซอง รวมถึงการทดสอบไว้ด้วย

เขากล่าวว่า การที่ดูเหมือนเร่งรัด ด้วยถึงเวลาต้องใช้งบประมาณปีนี้ จากที่ล่าช้ามานาน เพราะมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเป็นตัวแปรอยู่หลายเดือน ตั้งแต่เขียนทีโออาร์ต้องนำขึ้นเว็บเพื่อรับฟังความคิดเห็น 5 ครั้ง แต่ละครั้งต้องนำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาประชุม และแก้ไขปรับเปลี่ยน กระทั่งสุดท้ายขึ้นเว็บเป็นครั้งที่ 6 จึงต้องกำหนดเวลาขายซอง รวมถึงขั้นตอนยื่นซอง และทดสอบ

"หลังซื้อซองไปแล้ว ได้ให้เวลา 8 วันจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นซองวันนี้ (10 ก.ค.) และทดสอบอีกครั้งวันที่ 13 ก.ค. นาน 3 ชั่วโมง และพิจารณาผลทดสอบ ซึ่งไม่น่ามีอะไรยากสำหรับผู้ที่อยู่ในสายงานนี้ เพื่อได้แข่งขันอย่างจริงจัง เพียงเทสต์ผ่าน 50% ก็พอ และเป็นเวลาที่เพียงพอ เพราะเจ้าหน้าที่ของกรมลองเทสต์แค่ 2 ชั่วโมงก็เสร็จ" นายไพโรจน์ กล่าว

เขากล่าวว่า ระบบนี้เป็นการพัฒนาสำนักงานที่ดิน 25 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ แลนด์ ออฟฟิศ เปลี่ยนการจดทะเบียน การจดจำนอง การตรวจสอบบุคคล การสอบสวนนิติกรรมที่เคยทำเป็นระบบงานเอกสาร เปลี่ยนเป็นนำไอทีเข้ามาใช้ และรวมถึงการจ่ายเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีแบงกิ้ง ซึ่งขึ้นกับความพร้อมของสำนักงานที่ดินแต่ละแห่ง และระบบใหม่ต้องต่อยอดระบบเดิมของสำนักงานที่ดินให้ใช้งานได้ โดยเลือกใช้ระบบที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดจะเปิดให้บริษัทไอทีขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม เข้ามารับสัมปทานลงทุนจัดทำ และบำรุงรักษาระบบไอทีแก่กรม โดยต้องตกลงรายละเอียดกับกระทรวงการคลังถึงการแบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งกรมไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายติดตั้งที่เป็นเงินก้อนใหญ่ การบำรุงรักษาระบบให้เสถียรที่เป็นเงิน 10-15% ต่อปี และประชาชนยังได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานไกลๆ ขั้นตอนเอกสารอาจทำจากในกรุงเทพฯ ก็ได้

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 10-07-52

0 ความคิดเห็น: